ช่วงเช้าของวันที่20 มี.ค.2560 ที่ผ่านมา ทางผู้บริหารกองทุนประกันชีวิตและกองทุนประกันวินาศภัยได้ทำการเปิดที่ทำการใหม่ พร้อมกับได้จัดงานแถลงข่าวในวาระครบรอบ 9 ปีของกองทุนฯทั้งสอง โดยมีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานกรรมการบริหาร และดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบการธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ในฐานะรองประธานกรรมการบริหารได้ร่วมให้เกียรติขึ้นกล่าวในงานดังกล่าว นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในงานครบรอบ 9 ปี กองทุนประกันชีวิต-กองทุนประกันวินาศภัย ว่าปัจจุบันกองทุนประกันชีวิตมีเงินกองทุนอยู่กว่า 4,000 ล้านบาท และกองทุนประกันวินาศภัยมีอยู่กว่า 3,000 ล้านบาท โดย 2 กองทุนนี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญมาก "แต่ยอมรับว่าปัจจุบันประชาชนยังไม่ความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของ 2 กองทุนมากนัก และความสำคัญของธุรกิจประกันมีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น กองทุนจะประสานกับบริษัทประกัน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน เช่น การจัดสัมมนาส่งเสริมความรู้ต่างๆ ธุรกิจประกันว่ามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ และแนวทางการใช้เงินกองทุนดูแลสิทธิ์ประโยชน์ของผู้เอาประกัน" นายสมชัย กล่าวและว่า นอกจากนั้นตนเองยังได้มอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนให้กับทั้ง 2 กองทุน โดยถือว่ากองทุนทั้งสองมีบทบาทอย่างมากในการทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันคือ คุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกัน เวลาเกิดเหตุมีการเพิกถอนใบอนุญาต หรือบริษัทประกันล้มละลาย แล้วบริษัทเหล่านั้นไม่มีเงินชำระหนี้ให้ผู้เอาประกัน ทั้ง 2 กองทุน ก็จะทำหน้าที่จ่ายชดเชยแทน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ดูแลไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย และ ทำหน้าที่พัฒนาธุรกิจประกันให้มีความยั่งยืนและมีเสถียรภาพ รวมทั้งเสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม "ดังนั้นหลังจากนี้จะเน้นบทบาทนี้มากขึ้น ซึ่งเราจะร่วมมือทั้งกับบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย ในการออกไปจัดสัมมนาให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องธุรกิจประกันในบทบาทการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เพราะที่ผ่านมาถือว่ายังไม่ได้ทำไม่เต็มที่เท่าไหร่ " นายสมชัยกล่าว นางกมลวรรณ กีรติสมิต ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีบริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตจำนวน 8 บริษัทด้วยกัน ส่งผลให้มีเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อประกันวินาศภัยและกรมบังคับคดีจำนวน 25,000 คำขอ โดยคาดว่าในปีนี้จะสามารถดำเนินการจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ที่มีสัญญาประกันภัยแน่ๆในปี 60 ทั้ง 3 บริษัทได้แก่ บริษัทสัมพันธ์ประกันภัยที่ถูกคำสั่งปิดกิจการไปเมื่อปี 2552 ศูนย์สุขภาพประเทศไทยที่ถูกคำสั่งปิดกิจการเมื่อปลายปี 2557 และบริษัทสัญญาประกันภัยที่ถูกคำสั่งปิดไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2559 โดยล่าสุดขณะนี้เพิ่งได้รับอนุมัติจากบอร์ดหรือคณะกรรมการกองทุนประกันวินาศภัยตามที่ขอไป 299 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายให้กับเจ้าหนี้บริษัทสัมพันธ์ประกันภัย 8,419 ราย จากที่กรมบังคับคดีได้ส่งรายชื่อและเรื่องมาให้กับกองทุนฯทำการจ่าย 13,000 กว่าราย โดยกองทุนฯตรวจสอบเบื้องต้นพบตัวเลขและข้อมูลตรงกันแล้ว 8,419 ราย ส่วนที่เหลืออีกเกือบ 5,000รายมีมูลหนี้ไม่ตรงกันบ้าง หรือมูลหนี้เป็นเรื่องของแรงงาน หรือไม่ก็เป็นเรื่องของสหกรณ์บ้าง ซึ่งได้ไปยื่นเรื่องกับกรมบังคับคดี ซึ่งไม่สอดคล้องหรือตรงกับวัตถุประสงค์ของกองทุนประกันวินาศภัยที่ต้องจ่าย ก็จะต้องมีการกรองและคัด พร้อมกับเช็คสำนวนดูอีกทีเสียก่อน หลังจากที่มีข้อสงสัยว่า เป็นมูลหนี้ประกันภัยหรือเปล่า แต่อย่างไรก็ตาม ในจำนวน 8,419 ราย ที่เป็นเจ้าหนี้สัมพันธ์ประกันภัย ภายหลังทางกองทุนฯได้ทำหนังสือแจ้งเพื่อมายืนยันสิทธิ ก็พบว่า มีจำนวนเกือบพันรายด้วยกันที่จดหมายถูกตีกลับ ซึ่งถือว่าเยอะมากทีเดียว โดยไม่รู้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่หรือเปล่า เพราะกรณีของเจ้าหนี้สัมพันธ์ประกันภัยเกือบสิบปีแล้ว ซึ่งก็น่าจะมีเจ้าหนี้ที่ล้มหายตายจากไปไม่น้อยทีเดียว โดยทางกองทุนฯอยากจะขอให้เจ้าหนี้มายืนยันสิทธิโดยด่วน อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นทางกองทุนฯคงจะนำรายชื่อที่เจ้าหนี้ที่ได้ตอบรับมายืนยันสิทธิเพื่อจะขอรับเงินจากกองทุนฯเบื้องต้นนั้น ไปตรวจสอบกับหน่วยงานปปง.และหน่วยงานที่ดูแลเรื่องของคดีล้มละลาย เพื่อให้สอดคล้องกับกม.ของปปง.และกม.ล้มละลาย ซึ่งการที่กองทุนฯจะจ่ายเงินให้กับใครได้นั้นจะต้องตรวจสอบว่าเข้าข่ายบุคคลต้องห้ามหรือแบล็กลิสต์ของปปง.หรือไม่ และล้มละลายหรือเปล่า ซึ่งในเบื้องต้นก็พบว่า มีเจ้าหนี้บางรายล้มละลายไปแล้ว ซึ่งคงต้องหารือกับทางกรมบังคับคดีในเรื่องนี้อีกทีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ขณะเดียวกันก็ต้องมีการตรวจสอบบัญชีธนาคารและบัตรประชาชนว่า คนเดียวกันหรือไม่ ซึ่งจุดนี้ต้องดูให้ละเอียดทีเดียว โดยบางคนก็เสียชีวิตไปแล้วก็มี ซึ่งก็ต้องถามไปยังทางกระทรวงมหาดไทยว่า ใครคือทายาทที่ถูกต้อง ขณะที่บริษัทศูนย์สุขภาพฯเท่าที่ได้แจ้งมา ทางผู้ชำระบัญชีได้เฉลี่ยทรัพย์ไปแล้วเฉลี่ย 3% เพราะฉะนั้นในส่วนที่เหลือกองทุนฯก็จะจ่ายในส่วนที่เหลือ ซึ่งระหว่างทางกองทุนต้องตรวจยอดหนี้ และจ่ายส่วนที่ขาดให้รายละสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยมียอดเจ้าหนี้ประมาณ1,200 ราย โดยเบื้องต้นทางกองทุนฯได้ขอบอร์ดอนุมัติจ่ายล๊อตแรกสำหรับรายที่หลักฐานตรงกันและพร้อมจ่ายได้แล้วจำนวน 266 ราย เป็นเงิน 31 ล้านบาท ซึ่งได้รับอนุมัติจากบอร์ดกองทุนไปแล้ว โดยทางกองทุนฯก็ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังรายชื่อเจ้าหนี้ทั้ง 266 ราย และได้รับการตอบรับมาแล้ว 200 ราย โดยในส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างรอการยืนยันสิทธิอยู่ ซึ่งยังมีระยะเวลาให้มายืนยันสิทธิอีก โดยใน 200 รายที่ตอบรับมาแล้วก็กำลังเช็คกับปปง.และกม.ล้มละลายเป็นขั้นตอนต่อไป สำหรับรายสุดท้ายคือบริษัทสัญญาประกันภัยนัน้ ยังไม่ได้ขอบอรด์ในการเฉลี่ยทรัพย์ เพราะกองทุนฯอยู่ระหว่างการเฉลี่ยหลักทรัพย์และเงินสำรองกันอยู่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะได้รายละเท่าไหร่ โดยเจ้าหนี้คงไม่เยอะ มีเพียง 800-900 ราย เป็นเงิน 108 ล้านบาทที่เป็นเจ้าหนี้ประกันภัย คาดว่าจะเสนอบอร์ดเดือนหน้า และจ่ายเงินให้เจ้าหนี้ได้แน่ๆในปี 2560 นี้