นางสาวเยาวรัตน์ เรืองสาตรา สหกรณ์จังหวัดอุทัยธานี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการบริหารจัดการน้ำชลประทานเพื่อการบริโภคและอุปโภค และการรักษาสภาพแวดล้อมของแม่น้ำโดยเฉพาะการรักษาระดับน้ำเค็มของน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในระบบนิเวศวิทยาของแม่น้ำ จึงออกมาตรการควบคุมให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต หรือปรับเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย หรือบางพื้นที่ต้องหยุดการผลิต ทำให้ระบบเศรษฐกิจด้านการเกษตร ทั้งการจำหน่ายปัจจัยการผลิต การลงทุน และผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับชะงักงัน เกษตรกรสูญเสียรายได้จากการให้ความร่วมมือตามนโยบายและมาตรการของภาครัฐ ทั้งการเลื่อนระยะเวลาเพาะปลูก ปรับเปลี่ยนชนิดพืช จนถึงขั้นการหยุดการผลิตเพื่อตอบสนองการบริหารจัดน้ำชลประทาน และแหล่งน้ำธรรมชาติตามมาตรการภัยแล้ง จากแนวคิดที่เกษตรกรที่พึ่งพาระบบน้ำชลประทาน และแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อทำการเกษตร นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวคิดในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในระดับไร่นาแบบใหม่ คือเน้นให้เกษตรกรแต่ละรายต้องมีการพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้มีระบบน้ำสำรองเพื่อการเกษตรไว้ใช้ในเหตุฉุกเฉิน โดยขุดสระกักเก็บน้ำไว้ใช้ในไร่นา หรือขุดเจาะบ่อบาดาลไว้ใช้ทดแทนน้ำชลประทานในบางช่วงที่เกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อเกษตร ซึ่งจะเกิดระบบชลประทานในระบบไร่นาในลักษณะของสระเก็บกักน้ำฝนระบบย่อยๆ อย่างพอเพียง รวมทั้งสามารถนำระบบน้ำใต้ดินซึ่งเป็นระบบน้ำสำรองตามธรรมชาติจากการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำแล้งได้อย่างเป็นระบบ สหกรณ์จังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่า ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกร โดยให้สหกรณ์ /กลุ่มเกษตรกร เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน เพื่อนำไปสนับสนุนเงินกู้แก่สมาชิกในการใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำในแปลงไร่นาของตนเองอย่างเป็นระบบ สร้างโอกาสในการผลิตเกษตรกรรม ลดความเสี่ยงจากการใช้น้ำชลประทาน และแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่เพียงอย่างเดียว นางสาวเยาวรัตน์ เรืองสาตรา กล่าวอีกว่า สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุทัยธานี ได้รับการจัดสรรวงเงินกู้จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวน 2,750,000 บาท เพื่อจัดสรรให้สมาชิกสหกรณ์ และสมาชิกกลุ่มเกษตรกรซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่มีความจำเป็นต้องมีแหล่งสำรองน้ำ และลักษณะพื้นที่มีความเหมาะสมในการขุดสระกักเก็บน้ำฝน หรือเจาะบ่อบาดาล มีสมาชิกสหกรณ์เข้าร่วมโครงการฯ 4 สหกรณ์ จำนวน 52 ราย และสมาชิกกลุ่มเกษตรกร 1 กลุ่ม จำนวน 4 ราย โดยมีเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการฯ คือ สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องไม่เป็นหนี้ผิดนัดกับสถาบันเกษตรการ และสมาชิกจะต้องมีระบบน้ำในไร่นา จะสามารถสร้างโอกาสในการทำเกษตรแบบไม่พึ่งพาธรรมชาติ สามารถวางแผนการผลิตได้เอง ลดความเสี่ยงจากภัยแล้งหรือภัยธรรมชาติ