สถาปนา 25 ปี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ “ตามรอยเท้าพ่อ”จัดงานวลัยลักษณ์ เอ็กซ์โป 2017 โชว์ผลงานการศึกษา เป็นเวลา 25 ปี ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดการเรียนการสอน สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพสู่สังคม โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานชื่ออันเป็นสร้อยพระนามในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ (Comprehensive University) ที่พัฒนาสภาพแวดล้อมให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัยในรูปแบบ Residential University ที่มีระบบสาธารณูปโภคแบบครบวงจร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดการเรียนการสอน 13 สำนักวิชา โดยมีนักศึกษาระดับปริญญาตรี 7,770 คน ระดับปริญญาโท 357 คน และปริญญาเอก 118 คน ใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบด้วย สำนักวิชาแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สหเวชศาสตร์ และสาธารณสุขศาสตร์ ซึ่งในอนาคตจะเปิดการเรียนการสอน ด้านทันตแพทยศาสตร์ และสัตวแพทยศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร เทคโนโลยีการเกษตร สถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ และสารสนเทศศาสตร์ และด้านสังคมศาสตร์ ประกอบด้วย รัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ และการจัดการ ขณะเดียวกัน ม.วลัยลักษณ์ยังได้จัดตั้งสถาบันภาษาเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะสากลให้แก่นักศึกษา และมีแผนจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติอีกด้วย ดังนั้น หากมองในแง่ของสาขาวิชาที่จัดการเรียนการสอนของ ม.วลัยลักษณ์ ถือได้ว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่สอนครอบคลุมทุกด้าน อีกทั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่สมบูรณ์แบบด้วย โดยมีผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน อาทิ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำสีทาบ้านจากน้ำยางพารา การค้นพบวัคซีนป้องกันโรคตายด่วนของกุ้งขาว การค้นพบดีเอ็นเอในโรคกุ้งกุลาดำ การค้นพบเชื้อไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์ใหม่ที่มีความต้านทานโรคสูง และยังมีงานวิจัยที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์นำไปสู่การแก้ปัญหาให้แก่ประชาชน ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ ว่า หลังจากที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล จำนวน 5,600 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งศูนย์การแพทย์ขนาด 750 เตียง ซึ่งมีความก้าวหน้าและเป็นไปตาม roadmap ที่ได้วางไว้ โดยตัวอาคารจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 และจะเปิดให้บริการในปี 2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้เป็นศูนย์การแพทย์ที่ให้บริการในระดับตติยภูมิ รักษาโรคที่มีความซับซ้อน ต้องอาศัยการวิจัยเป็นพื้นฐาน ซึ่งแตกต่างจากโรงพยาบาลทั่วไป แต่ศูนย์การแพทย์แห่งนี้จะให้บริการรักษาโรคควบคู่กับการวิจัย เป็นการแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยหนาแน่ให้ได้รับบริการที่รวดเร็วมากขึ้น เนื่องในโอกาสครบ 25 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วันที่ 29 มีนาคม 2560 นี้ มหาวิทยาลัยกำหนดจัดงานวลัยลักษณ์เอ็กซ์โป 2017 ภายใต้แนวคิด “ตามรอยเท้าพ่อ” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมทั้งเปิดบ้านต้อนรับพี่น้องประชาชนให้ได้เข้ามาเห็นถึงพัฒนาการความก้าวหน้าด้านการจัดการศึกษา และงานวิจัยของมหาวิทยาลัย ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ วิสาหกิจ นำสินค้ามาแสดงและจำหน่ายเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบายของรัฐบาลแก่พี่น้องชาวภาคใต้ตอนบนและจังหวัดใกล้เคียงด้วย โดยงานวลัยลักษณ์เอ็กซ์โป ประกอบด้วย 3 งานหลัก คือ งานมหกรรมวิชาการ“เปิดบ้านวลัยลักษณ์” งานประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติและนานาชาติ และงานวลัยลักษณ์เกษตรแฟร์ สำหรับงานวลัยลักษณ์เอ็กซ์โป 2017 ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เล่าว่า การจัดงานจะมีการแบ่งพื้นที่เป็นโซนต่างๆ ประกอบด้วย โซน Royal Pavilion เป็นนิทรรศการ “ตามรอยพ่อ” เพื่อเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ส่วน Central Land จะเป็นมหกรรมวิชาการ“เปิดบ้านวลัยลักษณ์” มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานทางวิชาการ ผลงานของนักศึกษาของทั้ง 13 สำนักวิชา ชมและสัมผัสกับสุดยอดผลงานวิจัยของนักวิจัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมีทั้งผลงานวิจัยเชิงพาณิชย์และเชิงสังคมที่ตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เช่น การศึกษาวิจัยยางพาราไร้สีไร้กลิ่นเพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตสีออร์แกนิกจากยางพารา ปืนยางฝึกนักเรียนตำรวจ DNA จากพ่อแม่พันธุ์กุ้งเพื่อต้านทานโรค วัคซีนป้องกันโรคตายด่วนของกุ้งขาว ข้าวกล้องไข่มดริ้นกลิ่นหอม ชาข้าวแซมดิน เครื่องดื่มจากข้าวไข่มดริ้น ผลิตภัณฑ์น้ำหมักจากผลมังคุด สมุนไพรช่วยลดระดับไขมันในเลือดจากส่วนผสมของชาเขียวและส้มแขก และครีมบำรุงผิวสกัดจากทานาคาและน้ำมันรำข้าว ตลอดจนลานศิลปะและวัฒนธรรม ส่วนพื้นที่อื่นๆ ประกอบด้วย Creative Land,Technology Land, Ancient Land, Science and Digital Land, Sport Arena , Herb Garden และ Health Mansion ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดนิทรรศการ “ธ สถิตในดวงใจ” นิทรรศการภาพถ่าย “ตามรอยพ่อ ณ นครศรีธรรมราช” การประกวดขับร้องเพลงลูกทุ่งชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การประกวดเพลงบอกประเภทนักเรียนและเยาวชนชิงโล่พระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี นอกจากนี้ยังมีการสัมมนาและประชุมวิชาการ การบรรยายพิเศษ เรื่อง “มหาวิทยาลัยไทยสู่ระดับสากล” โดย ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน การประชุมวิชาการนานาชาติ The 2nd International Symposium on Sustainable Agriculture and Agro-Industry: ISSAA 2017 การประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 9 การประชุมวิชาการระดับชาติ “การเรียนรู้เชิงรุก” ครั้งที่ 5 Active Learning : Classrooms of the Future การประชุมวิชาการเทคนิคการแพทย์ ครั้งที่ 5 การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ อพ.สธ. สนองพระราชดำริโดยเครือข่าย สกอ. ภาคใต้ตอนบน และการสัมมนาอื่นๆรวมทั้งสิ้น 14 รายการ ส่วนงานวลัยลักษณ์เกษตรแฟร์ 2560 ในปีจัดขึ้นภายใต้แนวคิด เกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการทางการเกษตร การประกวดแข่งขันทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ การสัมมนาวิชาการทางการเกษตร การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสินค้าทั่วไป อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ กล่าวถึงเป้าหมายของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จากวันนี้ ว่า ในฐานะที่ผมเป็นนักการศึกษา อยู่ในแวดวงการศึกษามานานพอสมควร รวมทั้งมีประสบการณ์ในการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ ทำให้รู้ว่า ปัญหาใหญ่ของอุดมศึกษาไทยคือเรื่อง คุณภาพการศึกษา “ม.วลัยลักษณ์ จะไม่รอให้รัฐบาลมาสั่งให้เราปฏิรูปการศึกษา เราจะปฏิรูปด้วยตัวของเราเอง และผมมีความรู้ในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพ” “ขณะนี้เราได้เริ่มต้นแล้ว เป้าหมายหลักสำคัญที่สุดของการจัดการศึกษา ม.วลัยลักษณ์ ยืนยันได้ว่า การที่จะสำเร็จเป็นบัณฑิต นักศึกษาทุกคนต้องผ่านการสอบประมวลความรู้ก่อนสำเร็จการศึกษา และมีใบรับรองการสำเร็จการศึกษา เพื่อนำไปต่อยอดในการทำงานของนักศึกษา เป็นการยืนยันให้กับผู้ประกอบการได้ว่า นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สามารถปฏิบัติงานได้จริงตามหลักสูตรที่เรียนมา ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีใครทำ เราจะทำเป็นแห่งแรกในประเทศไทย” ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าว
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ งานสถาปนา 25 ปี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ “ตามรอยเท้าพ่อ”