ผลวิจัยนักศึกษาหลักสูตร การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูงรุ่นที่ 20 (ปปร.20) สถาบันพระปกเกล้า ในประเด็นภาคีหุ้นส่วนประชารัฐ ตอกย้ำรัฐบาลเดินมาถูกทาง แต่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงโดยเฉพาะภาครัฐที่จะไม่รวมศูนย์อำนาจอีกต่อไปและภาคเอกชนที่ต้องเสียสละอย่างแท้จริง ที่ห้องกมลทิพย์ โรงแรมเดอะ สุโกศล วันนี้( 29 มีนาคม 2560) ได้มีการจัดการประชุมวิชาการเพื่อนำเสนอผลการศึกษางานวิชาการของนักศึกษาหลักสูตร การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูงรุ่นที่ 20 (ปปร.20) สถาบันพระปกเกล้า ในหัวข้อ "ความร่วมมือของภาคีหุ้นส่วนประชารัฐในรอบประชาธิปไตยกับอนาคตประเทศไทย" โดยมีศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัยประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เกียรติมาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน และดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ประชารัฐ ...กับการขับเคลื่อนประเทศเป็น Thailand 4.0” ดร. วนิชย์ ปักกิ่งเมือง ประธานนักศึกษาปปร.รุ่นที่ 20 ดร. วนิชย์ ปักกิ่งเมือง ประธานนักศึกษาปปร.รุ่นที่ 20 กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้าถือเป็นสถาบันที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้นำของประเทศในด้านต่างๆได้มีโอกาสเข้ามารับการศึกษาเพื่อร่วมกันนำความรู้ไปพัฒนาประเทศตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง ในขณะเดียวกันยังได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ร่วมระดมความคิดเห็นนำเสนอแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรมผ่านผลงานวิชาการเช่น กรณีการนำเสนอผลงานวิชาการเกี่ยวกับ แนวทางของรัฐบาลในชุดปัจจุบันเรื่อง "ภาคีหุ้นส่วนประชารัฐ" อันประกอบไปด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและภาคประชาชน ซึ่งจากผลงานวิชาการของนักศึกษาปปร.รุ่นที่ 20 ที่ได้ลงทำการศึกษาในประเด็นการใช้แนวทางดังกล่าวในภาคส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็น ภาคเกษตร เช่นนโยบาย เกษตรแปลงใหญ่ บริษัทประชารัฐสามัคคี ภาคแรงงานเช่นการแก้ไขปัญหาแรงงานภาคประมง ภาคสาธารณสุขเช่นการแก้ไขปัญหาเรื่องผู้สูงอายุ เป็นต้นพบว่า ในภาพรวมเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องและเกิดผลสัมฤทธ์ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดียังพบว่ายังมีปัญหาอยู่บ้างในทางปฎิบัติที่รัฐบาลจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้นโยบายภาคีหุ้นส่วนประชารัฐเกิดผลสัมฤทธิ์มากกว่าที่เป็นอยู่ เช่น การทำความเข้าใจในบทบาทภาคีหุ้นส่วน ของภาคราชการ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจในเรื่องการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม(Participatory Governance) ไม่ใช่ยังคงการตัดสินใจไว้ที่ศูนย์กลาง หรือในกรณีของภาคเอกชนที่จะต้องสำนึกต่อการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ( Corporate Social Responsbility ) มากกว่าการทำเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของตนเอง มีการนำเทคโนโลยี องค์ความรู้และงบประมาณจากภาคเอกชนมาสนับสนุนอย่างเต็มที่ ดร.วนิชย์ยังกล่าวเน้นย้ำว่า นอกจากผลการวิจัยของนักศึกษาศึกษาหลักสูตรปปร.รุ่นที่ 20 จะพบว่า หลายภาคส่วนยังขาดความเข้าใจในบทบาทของภาคีหุ้นส่วนอย่างแท้จริงของตนเองแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการของนโยบายภาคีหุ้นส่วนประชารัฐที่หลายฝ่ายยังคงไม่เข้าใจคือ การนำไปสู่"ความยั่งยืน"ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ เนื่องจากแนวนโยบายภาคีหุ้นส่วนประชารัฐจะเกิดความยั่งยืนไม่ได้หากยังคงมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ผลการศึกษาวิชาการของนักศึกษาปปร.รุ่นที่ 20 พบว่า หลายภาคส่วนยังคงเข้าใจว่า ภาคีหุ้นส่วนคือการมานั่งร่วมประชุมของภาคส่วนต่างๆหรือนำเอารูปแบบที่ประสบความสำเร็จจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งเท่านั้น แต่แท้ที่จริงไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการพัฒนาแก้ไขปัญหาต่างๆในทุกพื้นที่ให้เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นทุกภาคส่วนต่างๆในพื้นที่จึงต้องร่วมมือและหาแนวทางในการพัฒนาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่างๆของตนเองที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน โดยอาจนำรูปแบบที่ประสบความสำเร็จมาเป็นกรณีศึกษาหรือปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ของตนเองต่อไป