เมื่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป จึงส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย เฉกเช่นเดียวกับ สวนสามพราน ในวันนี้ ที่ภาพลักษณ์จากการเป็นแหล่งที่พัก มีโชว์วัฒนธรรมไทยเป็นจุดขาย มาสู่สถานที่สัมมนา และแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ ที่หลายๆ คน รู้จักกันในนามของ สามพรานโมเดล ภายใต้การบริหารของ นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์ และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ในฐานะประธานโครงการสามพรานโมเดล ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ปรับปรุงหมู่บ้านไทยพัฒนาเว็บไซต์ ในเรื่องนี้ นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์ และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ในฐานะประธานโครงการสามพรานโมเดล กล่าวว่า เมื่อปี 2558 มีกรุ๊ปประมาณ 200 กว่ากรุ๊ป เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 300 คนเท่านั้น โดยมีอัตราการเข้าพักเพียง 48 % เนื่องจากกลุ่มประชุมสัมมนาทางราชการลดลง แต่ก็ได้สามพรานโมเดลมาช่วยดึงยอดลูกค้าได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงได้มีการปรับกลลุทธ์เป็นโรงแรมจัดประชุมสัมมนา และสามารถเรียนรู้เรื่องงานด้านเกษตรอินทรีย์ได้อีกด้วย โดยปี 2558 ทีผ่านมามีรายได้รวมอยู่ที่ 220 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้ เพิ่มจากเดิม 15% มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 60% ด้วยสามพรานโมเดลสามารถดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการในสวนสามพรานได้เพิ่มขึ้น และปี 2560 น่าจะดีกว่าปี 2559 เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนในกลุ่มหมู่บ้านไทย และประชาสัมพันธ์โฆษณาผ่านทางเว็บไซต์มากขึ้น ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าปีหน้าน่าจะ เติบโดเพิ่มขึ้น 30% จากปี 2558 "เหตุผลที่ตั้งเป้าปี 2560 โตขึ้นถึง 30% มาจากการปรับปรุงหลายอย่างภายในสวนสามพราน อย่างเช่น การจัดงานแต่งงานจะมีการนำเสนอแพ็คเกจรูปแบบใหม่ ด้วยการตกแต่งดอกไม้ภายในงานด้วยออแกนิคทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้ค่าดอกไม้ถูกลง เนื่องจากทุกอย่างปลูกได้เอง พร้อมกันนี้ยังรับจัดงานกลางแจ้งมากขึ้น ประกอบกับการแสดงดนตรี 4 ภาค ซึ่งโชว์โดยพนักงานที่เคยเล่นอยู่ในหมู่บ้านไทยนำมาปรับรูปแบบที่สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวได้มากขึ้น " ซึ่งการปรับปรุงหมู่บ้านไทย และการพัฒนาเว็บไซต์นั้นได้ตั้งงบประมาณการใช้จ่ายอยู่ที่ 20 ล้านบาท โดยในส่วนของหมู่บ้านไทยนั้นจะแบ่งสัดส่วนของพื้นที่ให้ลูกค้าสามารถเข้าไปทำเวิร์คชอปในหมู่บ้านได้ พร้อมมีดนตรีปิดให้ฟังเป็นช่วงๆ รวมถึงการปรับร้านขายของที่ระลึก เป็นสินค้าที่มาจากผลผลิตของเกษตรกร และสินค้าที่แปรรูปจากผลผลิตที่ทางโรงแรมได้ทำขึ้นมาเอง ทั้งนี้ นายอรุษ กล่าวต่อว่า เมื่อพื้นที่ภายในหมู่บ้านไทยได้ปรับปรับใหม่แล้ว จะมุ่งเน้นการขายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ควบคู่ไปกับกลุ่มทัวร์ โดยกลุ่มเอฟไอที หรือท่องเที่ยวเองนั้น จะมาจากกลุ่มออนไลน์ รวมทั้งจะเน้นตลาดหลักในกลุ่มประชุมและสัมมนา โดยจะพยายามทำหลักสูตรร่วมกับทางมหาวิทยาลัยต่างๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เป็นการต่อยอดจากสามพรานโมเดล ซึ่งทางอาจารย์ที่ทำงานร่วมกันมองเห็นศักยภาพของส่วนภาคปฏิบัติ ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ และน่าจะเป็นรูปธรรมในปี 2560 รักษาลูกค้าเดิมพร้อมขยายลูกค้าใหม่ อย่างไรก็ตาม นายอรุษ กล่าวถึงตัวสามพรานโมเดล ว่า เป็นการการเปลี่ยนแปลงวิถีทำเกษตรจากเคมีสู่วิถีอินทรีย์ของเกษตรกรในพื้นที่เมืองนครปฐมอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโหมดการสร้างรายได้และสุขภาพที่ดีให้แก่เกษตรกร ภายใต้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์นานาชาติ และการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จนเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีการปรับตลาดมาสู่การประชุม และสัมมนา เชื่อมระหว่างธุรกิจ สังคม และชุมชน "เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ ยังสามารถรักษาฐานเดิมไว้ได้ อีกทั้งยังสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ อย่างกลุ่มสัมมนา และนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่สนใจเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ เป็นการเชื่อมโยงเข้าสู่ชุมชน เรื่องเกษตรอินทรีย์ การดูแลสุขภาพแบบไทยๆ " เชื่อมโยงธุรกิจในรูปแบบที่เป็นธรรม ทั้งนี้ นายอรุษ ยังกล่าวถึงโครงการ ฟาร์ม ทู ฟังก์ชั่น ที่ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ และสมาคมโรงแรมไทย ประชุมหารือเรื่องการจัดซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรโดยตรง ว่า เป็นการกระจายรายได้และสนับสนุนสินค้าจากชุมชน เป็นการนำผู้ปลูก และผู้บริโภค มาเจอกันบนพื้นฐานของโซ่อาหารอินทรีย์ ในการเชื่อมโยงธุรกิจในรูปแบบที่เป็นธรรม โดยหัวใจสำคัญนอกจากสินค้าที่ผ่านการคัดสรรแล้ว ยังก่อให้เกิดเรื่องเล่าระหว่างคนขายกับคนซื้อ และเมื่อเกิดการพูดคุยทำให้ลูกค้ามั่นใจ จนสนใจที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวชมสถานที่จริงได้อีกด้วย ในปี 2559 ได้เริ่มต้นจากการนำข้าวอินทรีย์ ส่งตรงไปยังโรงแรม และศูนย์ประชุม ที่เข้าร่วม เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากที่สุด ส่วนในปี 2560 อาจจะปรับเป็นผักหรือผลไม้ ซึ่งในการบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู ร่วมกันนั้น ทางโรงแรมที่เข้าร่วมประมาณ 6 โรงแรม และ 3 ศูนย์ประชุมนั้น รับซื้อข้าวเดือนละ 2 ครั้ง ทำให้ง่ายต่อการวางแผนจัดหาข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งโรงแรม ศูนย์ประชุม และเกษตรกรเอง โดยมี สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ดูเรื่องการตลาดของไมซ์ เป็นการร่วมมือกันบนพื้นฐานของโซ่อาหารอินทรีย์ นั้นเอง