นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากสภานิบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เห็นชอบวาระ 3 ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ. กสทช. ซึ่งใน พ.ร.บ. กสทช ฉบับดังกล่าว จะมีการแก้ไขเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ ทำให้กสทช.ต้องเตรียมแผนในการจัดทำหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 850 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งคาดแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2560 และสามารถเปิดประมูลคลื่นความถี่ฯได้ในช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2561 ทั้งนี้ถือเป็นการประมูลครั้งแรกที่เป็นการประมูลล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดสัญญาอายุสัมปทานของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) ได้ทำสัญญาไว้กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ดีแทค โดยจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2561 นายฐากร กล่าวว่า สำหรับราคาตั้งต้นการประมูลฯ กสทช. จะยึดเอาผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีขึ้นเมื่อช่วงปลาย 2558 เป็นหลัก ซึ่ง การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ในรอบใหม่ที่จะมีขึ้น จะมีการ แบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต จำนวนใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ โดยมีราคาตั้งต้นการประมูลราว 40,000 ล้านบาทต่อใบอนุญาต ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ 1 ใบอนุญาต จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ จะมีราคาตั้งต้นการประมูลอยู่ที่ราว 75,000 ล้านบาท ทั้งนี้ด้วยกฎหมายฉบับใหม่ เงินรายได้ที่เกิดขึ้นจากการประมูลร้อยละ 15 จะนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(กองทุนดีอี) ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 85 เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการจัดการประมูลเสร็จสิ้นจะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินดังเดิม “เชื่อได้ว่าการประมูลคลื่นฯครั้งนี้จะได้เงินประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยเงินดังกล่าวรัฐบาลนำไปใช้ในโครงการต่างๆที่เป็นประโยชน์เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศ” นายฐากร กล่าว