รายงานข่าวแจ้งว่า ตามที่ได้มีการแชร์ในโลกโซเชียลฯถึงกรณีคำพิพากษาศาลฏีกากรณีให้บริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัดในฐานะจำเลย ไม่ต้องรับผิด ตามที่ถูกเจ้าของรถที่เอาประกันคือนายสุเมธ ตรังคธนสิน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจากกรณีจอดรถทิ้งไว้แล้วลงจากรถไปซื้อของ แล้วถูกคนร้ายขโมยขับรถหนีไป เป็นเหตุให้โจทก์ต้องยื่นฟ้องต่อศาลเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทเมืองไทยประกันภัย ปรากฎว่า ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชน ตลอดจนเป็นประเด็นทอลค์ออฟเดอะทาวน์ในแวดวงธุรกิจประกันภัยเป็นอย่างมากว่า จะนำมาสู่การนำมาใช้ในพิจารณาจ่ายสินไหมในกรณีรถหายทำนองเดียวกันนี้กันหรือไม่ ในโอกาสนี้ “สยามรัฐออนไลน์”จึงถือโอกาสนำฏีกาฉบับเต็มในคดีนี้มาลงให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกัน เพื่อจะได้เป็นกรณีศึกษากัน -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- คำพิพากษาศาลฏีกาที่ ๑๓O๕/๒๕๕๙ นายสุเมธ ตรังคธนสิน โจทก์ บริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด จำเลย ป.พ.พ. ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิด มาตรา 879 วรรคหนึ่ง พฤติกรรมของโจทก์ที่จอดรถโดยติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้แล้วลงจากรถไปซื้อของเป็นการขาดความระมัดระวังในการใช้ทรัพย์ หากโจทก์ใช้ความระมัดระวังตามสมควร โดยดับเครื่องยนต์และล็อกประตูรถยนต์ให้เรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าคนร้ายไม่สามารถลักรถยนต์ของโจทก์ไปได้โดยง่าย เหตุที่คนร้ายลักรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยไว้เกิดขึ้น เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยภัยจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 879 วรรคหนึ่ง ------------------------------------------ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 440,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 440,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ จำเลยฏีกา ศาลฏีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียนบฉ9125 ไว้จากโจทก์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2550 โจทก์ขับรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยไว้ไปจอดที่บริเวณถนนท่ากลาง เทศบาลเมืองตรัง จังหวัดตรัง โดยไม่ได้ดับเครื่องยนต์แล้วเดินลงจากรถไปซื้อโรตีที่ขายอยู่ริมถนน จากนั้นมีคนร้ายลักรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยไว้หลบหนีไป โจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนและแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยปฎิเสธไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฏีกาของจำเลยว่า เหตุรถยนต์สูญหายเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่นอย่างร้ายแรงของโจทก์ ทำให้คนร้ายลักรถยนต์ไป จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ประกอบอาชีพขายน้ำแข็ง โจทก์ใช้รถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยไว้ส่งน้ำแข็งให้ลูกค้า วันเกิดเหตุหลังจากเลิกงานส่งน้ำแข็งแล้ว โจทก์ไปส่งลูกน้องทีหลัง โรงพยาบาลตรัง แล้วขับรถกลับบ้าน เมื่อถึงถนนท่ากลาง เทศบาลนครตรัง ที่เกิดเหตุ โจทก์จอดรถยนต์ไว้ริมฟุตบาท เพื่อซื้อโรตีโดยไม่ได้ดับเครื่องยนต์ รถยนต์อยู่ห่างจากร้านขายโรตีประมาณ 2 เมตร เหตุที่ไม่ได้ดับเครื่องยนต์เพราะโจทก์ยืนอยู่ใกล้กับรถ บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากไฟฟ้าของร้านค้า และไฟฟ้าบนถนนส่องสว่างในระยะ 40 เมตร และเป็นที่ชุมชนมีคนพลุกพล่าน ขณะโจทก์ยืนซื้อโรตี ได้ยินเสียงเหยียบเครื่องยนต์ดังขึ้น เมื่อหันไปมองเห็นคนร้ายขับรถยนต์ของโจทก์หลบหนีไปทางอำเภอสิเกา โจทก์ขอความช่วยเหลือจากนายสุรพล ซึ่งเป็นพ่อค้าขายอาหารอยู่ใกล้ๆกับร้านขายโรตี นายสุรพลขับรถจักรยานยนต์พาโจทก์ไล่ติดตามคนร้ายไปทางถนนสายตรัง-สิเกา ได้ประมาณ 1 กิโลเมตร แต่ตามไม่ทัน ระหว่างนั้นโจทก์ได้โทรศัพท์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจว่ารถยนต์ถูกคนร้ายลักไป ขอให้ช่วยสกัดรถไว้ ต่อมาโจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน และแจ้งให้จำเลยทราบ โจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ลงจากรถยนต์ไปสั่งซื้อโรตี 5 แผ่น ใส่ไข่ 3 แผ่น ไม่ใส่ไข่ 2 แผ่น การจอดรถยนต์เพื่อซื้อของในลักษณะดังกล่าว โจทก์ย่อมต้องคาดหมายได้ว่า จะต้องใช้เวลาในการรอ และไม่ใช่ระยะเวลาเพียงชั่วครู่ โดยวิสัยของวิญญููชนทั่วไปย่อมจะต้องดับเครื่องยนต์พร้อมกับล็อกรถยนต์และตรวจสอบการล็อกประตูรถยนต์ให้เรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งแม้ระยะห่างประมาณ 2 เมตรจะไม่ม่าก แต่โจทก์ก็ไม่ได้ยืนอยู่ใกล้รถพอที่จะป้องกันไม่ให้คนร้ายเข้าไปในรถ ได้ความจากนางปิ่นรัตน์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายโรตีว่า ระยะเวลาตั้งแต่โจทก์จอดรถยนต์ลงมาซื้อโรตีจนถึงเวลาที่รถยนต์ถูกคนร้ายลักไปเป็นเวลาประมาณ 10 นาที แสดงว่า ก่อนที่คนร้ายจะลักรถยนต์หลบหนีไป โจทก์จอดรถโดยติดเครื่องยนต์ไว้นานประมาณ 10 นาที โดยโจทก์ก็ไม่ทันได้สังเกตหรือหันไปมองรถยนต์ ทำให้โจทก์ก็ไม่สามารถมองเห็นคนร้ายได้ ทั้งนี้ หากโจทก์ล้อกประตูรถยนต์ให้เรียบร้อย และไม่ติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ แม้คนร้ายจะเข้าไปในรถยนต์ได้แล้ว ก็ย่อมต้องใช้เวลาพอสมควรในการที่จะลักรถยนต์ไปได้ แต่การที่คนร้ายสามารถลักรถยนต์ไปได้ โดยง่าย ก็เนื่องจากโจทก์ติดเครื่องยนต์ไว้ ซึ่งโดยสภาพของรถขณะนั้นย่อมเอื้อโอกาสให้คนร้ายสามารถขับรถออกไปได้ในทันที โดยไม่ได้ต้องใช้วิธีการลักรถยนต์อื่นใดอีก พฤติกรรมของโจทก์ที่จอดรถโดยติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้แล้ว ลงจากรถไปซื้อของ จึงเป็นการขาดความระมัดระวังในการใช้ทรัพย์ หากโจทก์ใช้ความระมัดระวังตามสมควรโดยดับเครื่องยนต์ และล็อกประตูรถยนต์ให้เรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าคนร้ายไม่สามารถลักรถยนต์ของโจทก์ไปได้โดยง่าย เหตุที่คนร้ายลักรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยไว้เกิดขึ้น เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดในฐานะความสูญหายของรถยนต์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 879 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฏีกา ฏีกาของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ (บุญไชย ธนาพันธ์สิน - เกษม เกษมปัญญา - จรูญ ชีวิตโสภณ) ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ -ย่อ ธวัชชัย สุรกัขกะ -ตรวจ