เกษตรกรทุ่งบางระกำ ให้ความร่วมมือปรับเวลาเพาะปลูกข้าวนาปีเร็วขึ้นไปแล้วกว่า 180,000 ไร่ คาดว่าจะทำการเพาะปลูกเต็มพื้นที่เป้าหมาย ภายในวันที่ 10 พ.ค.60 กรมชลฯ มั่นใจพร้อมเก็บเกี่ยวทันก่อนฤดูน้ำหลากนี้แน่นอน นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมชลประทาน ได้บูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพภาคที่ 3 กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ ในการส่งน้ำให้เกษตรกรทำนาปีให้เร็วขึ้น โดยได้ทำการจัดสรรน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ไปยังพื้นที่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 17 เม.ย. 60) มีเกษตรกรทำการเพาะปลูกข้าวไปแล้วประมาณ 180,000 ไร่ หรือประมาณ 68% ของพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด( 265,000 ไร่) ในทั้ง 3 โครงการ (โครงการยมน่าน 205,000 ไร่ , โครงการพลายชุมพล 20,000 ไร่ , โครงการเขื่อนนเรศวร 40,000 ไร่) โดยมีการส่งน้ำเข้าระบบชลประทานไปแล้วประมาณ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 80 ของความจุคลองทั้งหมด ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งบางระกำได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยคาดว่าจะทำการเพาะปลูกข้าวครบ 100% ของพื้นที่ได้ในวันที่ 10 พ.ค. 60 นี้ และจะไม่กระทบต่อการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีในพื้นที่ทุ่งบางระกำ ที่พร้อมเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมดก่อนช่วงฤดูน้ำหลากนี้อย่างแน่นอน อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า แผนการปรับเปลี่ยนปฏิทินการทำนาปีของเกษตรกรในปีนี้ เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตามความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่บางระกำ (ครอบคลุมพื้นที่ อ.บางระกำ อ.พรหมพิราม อ.เมือง จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย) เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลาก ช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ดังนั้นเพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวได้ก่อนที่จะถึงฤดูน้ำหลาก กรมชลประทานจึงได้ทำการปรับเปลี่ยนปฏิทินในการทำนาปีของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งบางระกำ โดยทำการจัดสรรน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ให้เกษตรกรในพื้นที่บางระกำได้ทำนาก่อนพื้นที่อื่นๆ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31กรกฎาคม 2560 ใช้น้ำทั้งหมดประมาณ 228 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแผนการปรับเปลี่ยนปฏิทินการทำนาปีของเกษตรกรนอกจากจะลดความเสี่ยงที่ผลผลิตข้าวจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมแล้ว ยังจะทำให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังช่วยให้ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณจากการจ่ายเงินชดเชยค่าความเสียหายจากน้ำท่วมได้อีกด้วย ที่สำคัญหลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว ยังสามารถใช้พื้นที่ลุ่มต่ำดังกล่าวเป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก นอกจากนี้ ยังจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการทำอาชีพประมง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำอยู่แล้ว และปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ยังสามารถนำมาบริหารจัดการเป็นน้ำต้นทุนในการทำนาปรัง และการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย