ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ทั่วประเทศมีทั้งหมด 7,853 แห่ง มีความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้ชัดเจน เนื่องจากบางแห่งมีงบประมาณระดับ 1,000 ล้านบาท แต่บางแห่งมีไม่ถึง10 ล้านบาท บางแห่งมีศักยภาพในการจัดเก็บภาษีได้จำนวนมาก แต่บางแห่งไม่มีรายได้จากส่วนนี้เลย ประกอบกับปัจจุบันพบว่าบุคลากรของท้องถิ่นทั้งข้าราชการประจำ และฝ่ายการเมืองทั้ง นายกฯ รองนายกฯ ที่ปรึกษานายกฯ สมาชิกสภาฯรวมแล้ว กว่า 5 แสนคน ทำให้ท้องถิ่นขนาดเล็กหลายแห่งต้องนำงบประมาณไปเป็นค่าตอบแทนให้บุคลากร จนไม่มีศักยภาพในการพัฒนาและบริการสาธารณะ นายสรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย อนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันท้องถิ่นขนาดเล็กกว่า 4 พันแห่ง ไม่สามารถให้บริการพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรับบริการเนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ไม่เพียงพอในการจัดบริการสาธารณะ อันเนื่องมาจาก1.รายได้ที่จัดเก็บมีน้อยแต่ภาระค่าใช้จ่ายประจำเพื่อใช้ในการบริหารของอปท.สูงมากส่งผลให้อปท.ส่วนใหญ่จึงต้องพึ่งงบประมาณจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้อยู่ตลอดเวลา 2.อปท.ขนาดเล็กมีจำนวนมากเกินไป ส่วนใหญ่มีข้อจำกัดด้านโครงสร้างอำนาจหน้าที่และบุคลากร ทำให้ขาดศักยภาพในการจัดบริการสาธารณะได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ จึงไม่อาจตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ดี 3.อปท.รูปแบบทั่วไปมีหลายรูปแบบ ทั้งอบต. เทศบาล และอบจ. ขนาดของพื้นที่ จำนวนประชากร และรายได้ที่แตกต่างกันระหว่างอปท.ขนาดใหญ่ และอปท.ขนาดเล็ก ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน นายสรณะ กล่าวต่อว่า 4.การบริหารงานของอปท. การจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งการจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ยังมีข้อจำกัดด้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดความโปร่งใส การเข้ามีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายและภาคประชาชนมีไม่มากนัก รวมทั้งบางโครงการอาจถูกแทรกแทรงหรือการมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนกลไกการกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐและการมีส่วนร่วมของประชาชนยังไม่สามารถตรวจสอบการการบริหารงานของอปท.ได้อย่างทั่วถึง 5.ความซ้ำซ้อนในอำนาจหน้าที่ระหว่าง อบต.กับ เทศบาล หรือ เทศบาลกับอบจ. ความทับซ้อนในพื้นที่ระหว่าง อปท.ด้วยกันเอง ทำให้อปท.มีข้อจำกัดในการจัดบริการสาธารณะซึ่งส่งผลต่อมาตรฐานการให้บริการประชาชน “เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น จึงได้กำหนดแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปที่สอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจัดทำร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งให้ปรับปรุงกฎหมายจัดตั้งอปท.แต่ละรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน มารวมไว้ในฉบับเดียวกัน เพื่อให้มีความทันสมัย สอดคล้องทันสถานการณ์” นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทั้งนี้ได้งมีข้อเสนอการปฏิรูปในแต่ละประเด็น ประกอบด้วย 1.รูปแบบและโครงสร้างอปท.ต้องปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานของอปท.ให้มีความเหมาะสม โดยอปท.รูปแบบทั่วไป กำหนดให้มี 2 รูปแบบคืออบจ.และเทศบาล ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ อบจ.ให้มีหน้าที่ในลักษณะงานอำนวยการในด้านการบริหารท้องถิ่นให้แก่อปท.ในภาพรวมเพื่อไม่ให้ภารกิจซ้ำซ้อนกับเทศบาล ส่วนเทศบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานและเกิดความคุ้มค่าในการจัดบริการสาธารณะสามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาวและไม่เป็นภาระของรัฐบาล ให้ดำเนินการยกฐานะอบต.เป็นเทศบาล เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในระดับสากลทั้งประเทศและเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการจัดบริการสาธารณะ และให้ดำเนินการควบรวม อปท.ขนาดเล็กซึ่งมีเกณฑ์รายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนต่ำกว่า 20ล้านบาทหรือเกณฑ์ประชากรต่ำกว่า7,000คนเพื่อให้มีโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ที่เหมาะสม สามารถรองรับการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ “2.เรื่องอำนาจหน้าที่ ให้มีการขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ของอปท.ให้กว้างขวางขึ้นเพื่อรองรับการจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะให้ครอบคลุมภารกิจตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ให้อปท.สามารถร่วมมือกับอปท.อื่นหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนภาคเอกชนและชุมชนเพื่อจัดบริการหรือจัดกิจกรรมสาธารณะ ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของอบจ.และเทศบาลไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติภารกิจ 3.เรื่องรายได้และวินัยการเงินการคลัง ให้เพิ่มฐานภาษีใหม่ให้อปท.มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เช่นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีเพื่อการท่องเที่ยว ภาษีสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของอปท.โดยเร่งรัดการนำระบบแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินมาใช้ให้ครบถ้วนทุกเทศบาล เพิ่มมาตรการในการรักษาวินัยการเงินการคลัง เพื่อให้อปท.มีสภานะทางการเงินการคลังที่มีเสถียรภาพ มั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งกำหนดบทลงโทษในกรณีที่ไม่ดำเนินการรักษาวินัยการเงินการคลัง” นายสรณะ กล่าวต่อว่า 4.การกำกับดูแลอปท. คงหลักการกำกับดูแลอปท.เท่าที่จำเป็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพื่อเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม โดยกำกับดูแลการปฏิบัติราชการของอปท.ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด5.การมีส่วนร่วมของประชาชน เพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารของอปท.ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ “ผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือการได้รับบริการสาธารณะที่ดีขึ้นจากการปรับปรุงโครงสร้างอำนาจหน้าที่และรายได้ ซึ่งอปท.สามารถจัดบริการสาธารณะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การควบรวมอปท.ทำให้ประหยัดงบประมาณโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายประจำ มีงบพัฒนามากขึ้น ลดภาระเงินอุดหนุนทั่วไปของรัฐบาลมากขึ้น เป็นการบูรณาการทรัพยากรระหว่าง อปท.เพื่อนำมาใช้ในการจัดบริการสาธารณะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้อปท.จัดบริการสาธารณะได้มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ประชาชนมีส่วนร่วมและตรวจสอบการบริหารของอปท.มาขึ้นในทุกขั้นตอน เป็นการเพิ่มบทบาทและเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็งและสอดคล้องกับการเมืองระดับชาติ ตลอดจนเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาและสร้างความมั่นคงทางการเมืองในระดับชาติ” นายสรณะ กล่าว