คนเราต้องตามหาสิ่งใดในชีวิต ? พระอุดมปรีชาญาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร ตั้งปริศนาธรรมในการบรรยายธรรม หัวข้อ “สิ่งที่ควรตามหา” บนเวทีเรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ ซึ่งจัดโดย บมจ.ซีพี ออลล์ เวทีที่น้อมนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มาเผยแผ่ให้กับพนักงานซีพี ออลล์ และผู้สนใจจากทั่วสารทิศได้ฟังเป็นประจำทุกเที่ยงวันศุกร์ ณ อาคารซีพี ทาวเวอร์ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องกว่า 21 ปี บรรยากาศในห้องบรรยายธรรมมีประชาชนสนใจตอบคำถามพระอาจารย์จำนวนหลายท่าน หลากหลายคำตอบน่าสนใจ ทั้งเรื่องการตามหาความสำเร็จของชีวิต ,ความก้าวหน้าในเรื่องของงาน เงิน และทรัพย์สิน เป็นต้น แต่สิ่งที่พระอุดมปรีชาญาณ อธิบายความตามธรรมชาติว่า สิ่งที่คนเราต้องตามหาในชีวิต แต่ละคนมีสิ่งที่ตามหาไม่เหมือนกัน…ซึ่งแท้จริงแล้วสิ่งที่คนเราตามหา เครื่องประดับให้ชีวิต นั่นคือ “ปัญญา” อันเป็นเครื่องประดับที่จะทำให้สามารถพิจารณาใคร่ครวญเหตุการณ์ ปัญหา และอุปสรรค ที่เข้ามาในชีวิต และสามารถแก้ไขได้โดยง่าย ปัญญานี้จะนำไปสู่จุดหมายของสิ่งที่ตามหาได้ทุกกรณี ในทางพระพุทธศาสนา ถ้าจะอนุมานเอาพระชนม์พรรษาของพระพุทธเจ้าก็คือ 80 พรรษา พระองค์ใช้ปัญญาในแต่ละช่วงวัยแตกต่างกันออกไป ให้ลองแบ่งช่วงวัยเป็น 3 ช่วง ในแต่ละช่วงวัยห่างกันประมาณ 10,000 วัน จะพบว่า ในช่วงหมื่นวันแรก เป็นช่วงอายุที่สิ่งที่คนเราตามหา คือ การสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตของเรา ตั้งแต่วัยทารก ไปวัยเรียน จนกระทั่งวัยเริ่มต้นทำงาน คือ การแสวงหาความรู้ ธรรมเนียมนิยมของครอบครัว ชุมชน สถานที่ต่างๆ ที่คนเราอาศัยอยู่ในสภาวะแวดล้อมและบริบทแตกต่างกันไป หมื่นวันที่สอง เป็นช่วงที่ต้องใช้ปัญญาในการสร้างมิตรภาพ ตามหามิตรแท้ของชีวิตที่จะสร้างความมั่นคงให้หน้าที่การงาน คู่แท้ที่จะดูแลประคับประคองครอบครัว หรือแม้กระทั่งเพื่อนแท้ที่จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ช่วยเหลือกันในยามยาก หมื่นวันที่สาม คือ หมื่นวันสุดท้าย เป็นช่วงอายุที่สำคัญ เป็นช่วงที่หลังจากค้นหาสิ่งต่างๆ มาทั้งชีวิตจนกล้าแกร่งเข้มแข็งแล้ว จะเป็นช่วงเวลาที่ได้ใคร่ครวญว่า ที่ผ่านมาได้ทำอะไรที่ดีมีคุณค่าทั้งต่อตัวเรา ต่อเพื่อนร่วมงาน และต่อบุคคลรอบข้างมากแค่ไหน ในทุกขณะที่คนเราตามหาสิ่งต่างๆ เข้ามาในชีวิต ที่ล้วนสร้างจากปัญญา ทันทีเมื่อค้นพบปัญาแล้ว สิ่งใดก็ตามที่ค้นหา จะนำความสุขมาให้แก่เรา แต่ความสุขนั้นจะเกิดขึ้นได้มากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการใช้ปัญญาขจัดปัญหาออกไป โดยหลักการดังกล่าวสามารถทำได้ 3 ประการ ด้วยกัน ดังนี้ 1. ไม่เอาความทุกข์มาทับถม สิ่งที่ไม่ทุกข์ใจเราต้องทำใจให้ไม่ทุกข์ ถ้าละได้ความสุขก็จะคงที่ เพราะเราไม่นึกถึงความทุกข์ ความสุขนั้นก็จะปรากฎขึ้น 2. ต้องไม่ละทิ้งความสุข ที่เราสมควรจะได้ ถ้าเราไม่ละทิ้งความสุขอันเดิมที่เราสมควรจะได้ ให้คิดตามเนวคิดที่ควรจะมีและควรจะเป็น ตามความชอบธรรม เราก็จะมีความสุขในสิ่งที่เราตามหา 3. เมื่อเราทำเช่นนี้ได้สำเร็จ เราก็กระจายวงความสุขไปสู่ภายนอก ขยายวงความสุขของเราไปสู่คนอื่นๆให้ได้รับความสุขไปด้วย สิ่งที่ตามหาที่สุดในชีวิตของเรา นั่นคือ ความสุขแต่ความสุขในแต่ละระดับของเราไม่เหมือนกัน พอไม่เหมือนกันสิ่งต้องตามหาที่แท้จริงก็คือจิตใจ จิตใจของเรานี่แหละเป็นสิ่งที่บอกเราว่า อันนื้คือความสุข อันนี้เป็นความทุกข์โดยแท้จริง