สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สดร.) ชวนติดตาม 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่สุดแห่งปี ที่จะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย.นี้ ไมโครมูน- ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี-กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี หรือ วันครีษมายัน"  โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. เปิดเผยว่า ตลอดเดือน มิ.ย.นี้ จะเกิดปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ ได้แก่ วันที่ 9 มิ.ย. เป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงและโคจรอยู่ห่างจากโลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 406,402 กิโลเมตร ในเวลาประมาณ 20.11 น. ตามเวลาในประเทศไทย ทำให้คืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวง จะมีขนาดปรากฏเล็กที่สุดในรอบปี เรียกว่า "ไมโครมูน" ขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงจันทร์ปกติ ประมาณ 14% และมีความสว่างน้อยกว่าถึง 30% จากนั้นช่วงกลางเดือน วันที่ 15 มิ.ย. ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เป็นผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 1,353 ล้านกิโลเมตร ช่วงดังกล่าวจะสามารถสังเกตดาวเสาร์ได้ยาวนานตลอดคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินจนถึงรุ่งเช้าวันของถัดไป และมีความสว่างมาก ปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สังเกตได้ด้วยตาเปล่า หรือหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป จะเห็นวงแหวนดาวเสาร์ได้ชัดเจน และในวันที่ 21 มิ.ย. ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุดและตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด เป็นวันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีของประเทศทางซีกโลกเหนือ นานสุดเกือบ 13 ชั่วโมง ภาษาสันสกฤตเรียกว่า "วันครีษมายัน" (ครี-ษะ-มา-ยัน) หรือ Summer Solstice ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สดร.เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันที่ 15 มิ.ย.60 ตั้งแต่เวลา 18.00-21.00 น.ฟรี !!! ไม่เสียค่าใช้จ่าย เชิญชวนประชาชนร่วมสัมผัสความสวยงามของวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากหลายชนิด พบกันได้ ณ 3 จุด สังเกตการณ์หลัก ได้แก่ 1) ลานกิจกรรมหน้าศูนย์การค้าเมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ เชียงใหม่ 2) หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และ 3) หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ ยังร่วมกับเครือข่ายดาราศาสตร์อีกกว่า 265 แห่งทั่วประเทศ ในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ซึ่งได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์สำหรับจัดกิจกรรมสังเกตวัตถุท้องฟ้าจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เตรียมกล้องโทรทรรศ์ไว้ให้นักเรียนและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้ร่วมส่องดาวเสาร์ใกล้โลกในคืนดังกล่าวอีกด้วย ตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ได้ที่ www.facebook.com/NARITpage ---------------