วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมานายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานเปิดงานณ ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านตะแบงใต้ ตำบลห้วยตึ๊กชู อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา12 สิงหาคม 2559 พร้อมด้วยนางสาวอุศนีย์ ธูปทอง ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ ที่ปรึกษาสำนักงาน กปร. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมในพิธีเปิดงานครั้งนี้ โดยมีนายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต้อนรับ ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร กิ่งอำเภอภูสิงห์ (ในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 โดยมีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง ๆ ร่วมกันจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ซึ่งประกอบอาชีพทำนาไม่ได้ผล ในลักษณะเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยในปี 2543 และปี 2548 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ไปทรงเยี่ยมราษฎรอำเภอภูสิงห์ และได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาช่วยเหลือราษฎรในการแก้ไขปัญหาเรื่องดิน น้ำ ป่า การพัฒนาอาชีพ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดระยะเวลากว่า 22 ปี ที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ได้น้อมนำแนวทางการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ มาขับเคลื่อนการพัฒนาในลักษณะการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพื่อให้ราษฎรและผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และนำองค์ความรู้จากหลักสูตรฝึกอบรมด้านอาชีพจำนวน 15 เรื่อง ให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ในแต่ละปีมีจำนวนกว่า 10,000 คนที่เข้ารับการอบรมและนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม ในการนี้ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ได้มอบรางวัลให้แก่เกษตรกรที่มีผลงานดีเด่นของศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผลสำเร็จจากแนวพระราชดำริด้านดิน น้ำ ป่า อาชีพ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน รวมถึงนิทรรศการด้านวิชาการ การขยายผลสำเร็จจากหน่วยงานต่าง ๆ, การฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น จำนวน 8 หลักสูตร, การประกวดผลผลิตทางการเกษตร, การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าอื่น ๆ พร้อมกับได้ชมการแสดงรำอัปสรา จากโรงเรียนขุขันธ์ ผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ชัดสามารถเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งผลให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น