“เสกสรรค์”ร่วมปาฐกถา “การเมืองไทยกับสังคม 4.0”ฉะรัฐบาลทหารหวังขับเคลื่อนประเทศตามใจตน ถามชนชั้นนำภาครัฐทำไมกล้าร่างรัฐธรรมนูญเอียงข้างตัวเอง ซัดคณะรปห.ยัดเยียดวาทกรรม “ต่อต้านคอร์รัปชั่น” ใส่นักการเมือง ชี้ 4 คำถามนายกฯ หวังเปิดฉากรุกการเมือง จวกรธน.ฉบับปัจจุบันกักขังอำนาจ-ลดทอนบทบาทปชช. ทำขรก.ระดับสูงเป็นนักการเมืองโดยปริยาย ขณะที่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ยึดโยงระบบทุนโลกาภิวัตน์เพิ่มช่องว่างระหว่างรายได้ เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 19 มิ.ย. ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา Direk’s Talk “ทิศทางการเมืองโลก การเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ” มีการปาฐกถา “การเมืองไทยกับสังคม 4.0” โดยนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักคิด นักเขียน บรรยากาศภายในงานมีทั้งนิสิตนักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ และประชาชนเข้าร่วมฟังการเสวนาเป็นจำนวนมาก นายเสกสรรค์ กล่าวว่า การสนทนาในวันนี้เป็นวิชาการ ซึ่งอาจถูกหรือผิดก็ได้ คงไม่มีใครตีความไปในทางอื่น ความหมายของนักการเมืองที่จะใช้จะหมายรวมไปถึงนักการเมืองในระบบ และนักการเมืองนอกระบบ ทั้งพวกที่แสวงหาชัยชนะในการเลือกตั้ง และพวกที่แสวงหาอำนาจโดยผ่านการแต่งตั้ง เพราะ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการพูดถึงการเมืองโดยโยงนัยยะไว้ที่นักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้น ทำให้เข้าใจผิดว่ามีนักการเมืองเพียงฝ่ายเดียวที่เล่นการเมือง ฝ่ายอื่นๆ ไม่ได้เล่นการเมือง ซึ่งคำพูดแบบรวบรัดดังกล่าวเมื่อนำมารวมกับเรื่องคนดีคนไม่ดี ก็กลายเป็นข้อสรุปที่ว่านักการเมืองที่เคยคุมอำนาจโดยผ่านระบบการเลือกตั้งล้วนเป็นคนไม่ดี ส่วนคนที่อยู่บนเวทีอำนาจด้วยวิธีอื่นล้วนไม่ใช่นักการเมืองจึงเป็นคนดี นายเสกสรรค์ กล่าวว่า ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การลุกฮือต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของมวลชนคนเสื้อเหลืองที่นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 มาจนถึงการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 รัฐธรรมนูญที่ผู้ร่างเรียกว่าเป็นฉบับต้านโกง ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการที่มีคนเชื่อว่าตัวเองกำลังทำความดี ด้วยการนำคนไม่ดีลงมาจากเวทีอำนาจ จากนั้นเขียนกติกาการเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้คนดีกลับมามีอำนาจใหม่ หรือถ้าขึ้นมาได้ต้องถูกฝ่าโจมตีควบคุมอย่างเข้มข้น วิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงปี 2556-2557 ไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างมวลชนที่ใส่เสื้อสีต่างกันเท่านั้น แต่ยังกินลึกไปถึงชนชั้นนำเก่าระหว่างภาครัฐกับชนชั้นนำใหม่ที่โตมาจากภาคเอกชน และขึ้นสู่อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้ง โดยฝ่ายแรกคุมกลไกรัฐราชการ ฝ่ายหลังมีมวลชนเป็นฐานสนับสนุน จะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งที่ใหญ่โต สะท้อนความไม่ลงตัวในโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย นำไปสู่การเปลี่ยนผลัดแย่งพื้นที่ของกันในระดับระบอบต่อระบอบ ความขัดแย้งดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยวิธีจับมือปรองดองของบรรดาแกนนำสีเหลืองสีแดง ขณะที่ตัวละครเอกถูกจัดไว้นอกกรรมการ การเป็นคู่กรณีของชนชั้นนำภาครัฐนั้น สังเกตจากนับวันอคติของพวกเขาขยายจากการรังเกียจนักการเมืองบางตระกูลไปสู่นักการเมืองและพรรคการเมืองโดยรวม เป็นความรังเกียจที่มีต่อผู้ชิงอำนาจ หลังรัฐประหารแทนที่รัฐบาลทหารจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างมวลชนเสื้อสี กลับเดินหน้ากำหนดนโยบายต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของตน ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ใช่ลักษณะที่ขึ้นมารักษาการชั่วคราว แต่เป็นลักษณะของผู้ปกครองที่มีชุดความคิดของตัวเองและประสงค์จะดัดแปลงโลกให้เป็นไปตามนั้น อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังสะท้อนให้เห็นว่าชนชั้นนำภาครัฐต้องการทวงคืนและรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ในเวทีอำนาจไว้อย่างถาวร และจำกัดพื้นที่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง หากพูดถึงชนชั้นนำภาครัฐความต้องการพื้นที่การเมืองและอำนาจนำในปริมณฑลทางการเมืองเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน ประเด็นที่เห็นได้ชัดคือทำไมชนชั้นนำภาครัฐและพันธมิตรทางสังคมจึงกล้าร่างรัฐธรรมนูญให้เอียงข้างตัวเองได้มากถึงขนาดนี้ อย่างไรก็ตามเราต้องยอมรับว่าการยึดอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐครั้งนี้มีมวลชนสนับสนุนอยู่ไม่น้อย ซึ่งการกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่า 9-10 ปี นายเสกสรรค์ กล่าวว่า การดูถูกหมิ่นหยามนักการเมืองและพรรคการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำภาครัฐแสดงออกอย่างเปิดเผยตลอดมาหลังช่วงรัฐประหาร เนื่องจากเป็นวาทกรรมหรือฐานคิดที่ใช้ลดฐานะนำประชาธิปไตยอย่างสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา คณะรัฐประหาร และมวลชนที่สนับสนุนมักใช้วาทกรรมต่อต้านคอรัปชั่น พุ่งเป้าใส่นักการเมือง ซึ่งอาจหมายถึงรัฐบาลที่ถูกโค่น แต่ต่อมากลับออกไปในทางเหมารวมนักการเมืองทั้งหมด ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง ข้าราชการ และพ่อค้านักธุรกิจที่เป็นต้นแบการทุจริตในประเทศไทย และการคอร์รัปชั่นไม่ได้ไปไหนในช่วงการปกครองแบบอำนาจนิยม อย่างไรก็ดีประเด็นคอร์รัปชั่นยังเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศชาติ เราจะเห็นได้จาก 4 คำถามนายกรัฐมนตรี เรื่องธรรมาภิบาล ใช่หรือไม่ที่คำถามเหล่านั้นแท้จริงแล้วคือการเปิดฉากรุกทางการเมืองต่อบรรดานักการเมืองอีกละลอกหนึ่ง โดยผู้คุมอำนาจปัจจุบัน ช่วงชิงเป็นฝ่ายกระทำก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น นายเสกสรรค์ กล่าวย้ำว่า วันนี้ชนชั้นนำภาครัฐได้กลับมาสถาปนาอำนาจนำของตนและฟื้นบทบาทของรัฐราชการในยุคโลกาภิวัตน์ได้สำเร็จ แต่สภาพดังกล่าวจะยิ่งยืนได้แค่ไหนคงไม่มีใครตอบได้ การที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกักขังอำนาจโดยขยายบทบาทของข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนไว้มาก เท่ากับนำระบบราชการมาซ้อนทับและครอบงำปริมณฑลทางการเมือง ในด้านหนึ่งนับเป็นการลดทอนบทบาทของประชาชนในกระบวนการคัดสรรและควบคุมอำนาจ แต่อีกด้านหนึ่งย่อมทำให้ภาคราชการมีการเมืองมากขึ้น ข้าราชการระดับสูงกลายเป็นนักการเมืองไปโดยปริยาย ยังไม่รวมถึงระบบวุฒิสภาแต่งตั้งที่จะยิ่งทำให้นักการเมืองนอกระบบผุดขึ้นเต็มไปหมด ที่ไหนมีการเมืองที่นั่นมีการแข่งขันชิงอำนาจ มีความขัดแย้งและความขัดแย้งในหมู่ผู้ปกครองเคยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาหลายครั้งแล้ว นายเสกสรรค์ กล่าวว่า สำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น รัฐบาลชุดนี้ยังยึดโยงอยู่กับระบบทุนโลกาภิวัตน์ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน รวมถึงการจัดตั้งระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ล้วนเป็นโครงการที่ใช้ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติและในประเทศ มีการขยายระบบโลจิสติกส์ในอภิมหาโครงการต่างๆ เพิ่มเส้นทางขนส่งต่างๆ เพื่อเพิ่มความแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยกับทุนนิยม การลงทุนต่างชาติอาจทำหน้าที่เป็นหัวรถจักรฉุดลากเศรษฐกิจไทยให้เติบโตสูงขึ้น แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้นำไปสู่การกระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำโดยอัตโนมัติ กระทั่งสวนทางกันในหลายๆ กรณี อย่างไรก็ดีปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยสั่งสมมานานหลายศตวรรษ ยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ช่องว่างระหว่างรายได้ยิ่งขยายกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ถือมีเป้าหมายที่ดีในการพาประเทศให้พ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่ก็มีคำถามว่าคนไทยมีความพร้อมแค่ไหนในการก้าวกระโดดไปสู่การทำงานในระบบเศรษฐกิจ 4.0 ซึ่งประเด็นความเหลื่อมล้ำยังเข้ามาเป็นอุปสรรค