ศธ. พร้อมองค์กรพันธมิตรด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ ยืนยันพร้อม 100% ต้อนรับ 76 ชาติร่วมแข่ง “เคมีโอลิมปิกนานาชาติ ครั้งที่ 49” วันที่ 6-15 กรกฎาคมนี้ ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์” เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ พร้อมชวนประชาชนร่วมเป็นเจ้าภาพและส่งแรงใจเชียร์ 4 เด็กไทย หวังสร้างบรรยากาศวิชาการและกระตุ้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อผลิตกำลังคนรองรับการคิดค้นนวัตกรรมช่วยสร้างชาติในอนาคต รองศาสตราจารย์ ดร.ธัชชัย สุมิตร ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า รัฐบาลกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” โดยยึดหลักการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ที่จำเป็น สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยหนึ่งในโครงการสำคัญ คือ โครงการโอลิมปิกวิชาการ ซึ่งศธ.โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมป์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จัดตั้งศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. 48 แห่งทั่วประเทศ และส่งเสริมการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในประเทศและระดับนานาชาติ ทำให้ค้นพบเยาวชนไทยที่มีความสามารถพิเศษเข้ามาสู่กระบวนการพัฒนาอย่างเป็นระบบจำนวนมาก และสร้างชื่อเสียงในระดับโลกจากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการไว้อย่างมากมาย การพัฒนาอย่างรวดเร็วดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ จัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 49 ในระหว่างวันที่ 6-15 กรกฎาคม 2560 ซึ่งไม่เพียงเป็นการแสดงการยอมรับมาตรฐานการศึกษาของประเทศไทยในเวทีวิชาการระดับโลกเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศทางวิชาการ เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อผลิตกำลังคนที่มีความรู้เชิงนวัตกรรม รวมถึงสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ (Tech Startup) และเดินไปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล รองเลขาธิการ สอวน. เปิดเผยว่า มูลนิธิ สอวน. ได้สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศ รวมทั้งค้นหานักเรียนที่มีศักยภาพจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาได้อย่างตรงเป้าหมาย ทำให้มีคนดีคนเก่งด้านนี้ขยายจำนวนมากขึ้น โดยประเทศไทยได้มีการนำองค์ความรู้จากการแข่งขัน มาพัฒนายกระดับหลักสูตรการศึกษาจนได้มาตรฐานทัดเทียมกับสากล โดยตั้งแต่ปี 2545 นักเรียนไทยสามารถสร้างผลงานได้อย่างก้าวกระโดด คือ ได้เหรียญรางวัลทุกคนในทุกสาขาวิชา และส่วนใหญ่เป็นเหรียญทองและเหรียญเงิน ซึ่งจัดอยู่ในลำดับแนวหน้าของโลก การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับความร่วมมือจากหลายมหาวิทยาลัยที่ได้ส่งอาจารย์ นักเคมี และผู้เชี่ยวชาญมาช่วยทางด้านวิชาการ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ทางวิชาการ รวมไปจนถึงอดีตผู้แทนประเทศไทยที่มีประสบการณ์จากเวทีเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ การเตรียมความพร้อมไม่ว่าจะเป็นการสอบทางภาคทฤษฎี หรือการสอบปฏิบัติการ อุปกรณ์การแข่งขันทั้งหมดผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะได้รับเหมือนกันทุกคน โดยเน้นหลักความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันของผู้สอบ ทางด้าน ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นเจ้าภาพ ฝ่ายยสถานที่ในการจัดแข่งขันฯ ได้เปิดเผยว่า การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 49 ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 6-15 กรกฎาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม นั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับวงการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ระดับโลกเท่านั้น แต่เป็นวาระสำคัญที่จะได้เฉลิมพระเกียรติ ศาตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ผู้ทรงเป็น “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์” ของชาวไทย และทรงมีพระปรีชาสามารถด้านงานวิจัยทางเคมี จนมีชื่อเสียงระดับโลกในฐานะศาสตราจารย์ด้านเคมี เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 ปี ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 นี้ และมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง “Chemistry in the Royal Innovation of King Rama IX” เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ อีกด้วย สำหรับความพร้อมในการจัดงาน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิทยาศาสตร์ และองค์กรพันธมิตร มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน เยาวชนและอาจารย์ผู้ควบคุมทีมจาก 76 ประเทศ พร้อมด้วยตัวแทนประเทศผู้สังเกตการณ์อีก 3 ประเทศ รวมทั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ที่เดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันกว่า 600 คน “ขณะนี้ทุกอย่างมีความสมบูรณ์ 100% ทั้งในส่วนที่พัก สถานที่จัดสอบ สถานที่จัดพิธีเปิด พิธีปิด รวมถึงการเตรียมความพร้อมของพี่เลี้ยง การเดินทาง การรักษาความปลอดภัย และการจัดกิจกรรมอื่นๆ เช่น การทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้สำคัญของ จ.นครปฐม และกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างประสบการณ์และมุมมองที่หลากหลาย รวมทั้งขยายโลกทัศน์การเรียนรู้แก่ผู้เข้าแข่งขัน” อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว สำหรับผู้แทนประเทศไทยที่จะเข้าร่วมการแข่งขันมี 4 คน ประกอบด้วย 1) นายบวรทัต บุญรักษ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม 2) นายปภาภัทร์ ดิสนีเวทย์ ปัจจุบันจบการศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม และรอศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา 3) นายวริศ จันทรานุวัฒน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และ 4) นางสาวอภิสรา กวียานันท์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้แทนประเทศไทย ทั้ง 4 คน ได้ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้น จากคณะกรรมการวิชาการฯ ในระดับชาติ โดยคัดมาจากตัวแทนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจากทั่วประเทศ ทั้งนี้ จึงขอเรียนเชิญคนไทยทุกคนร่วมเป็นเจ้าภาพ ในการต้อนรับคณะผู้เข้าแข่งขันเคมีโอลิมปิกครั้งที่ 49 ในระหว่างวันที่ 6-15 กรกฎาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และร่วมส่งกำลังใจให้กับผู้แทนของประเทศไทย โดยสามารถติดตามได้ผ่านเว็บไซต์ http://icho2017.sc.mahidol.ac.th และเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/icho2017