มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) จัดโครงการพิเศษเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในปี 2559 เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 จัดกิจกรรมศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดปีโดย เมื่อวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา จัดกิจกรรมลงพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร และอุโมงค์ผันน้ำ “ลำพะยังภูมิพัฒน์” อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ , โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) ท อ.เต่างอย จ.สกลนคร ,พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ อ.เมือง จ.สกลนคร และศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร เพื่อสร้างการรับรู้และเผยแพร่แนวพระราชดำริไปสู่ประชาชนทั่วประเทศ ผ่านการเผยแพร่ของสื่อมวลชน วันที่ 21 กรกฎาคม 2559 นำคณะสื่อมวลชนในพื้นที่พระราชดำริแรกเยี่ยมชมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนฯ และอุโมงค์ผันน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมเมื่อปี พ.ศ.2542 ให้จัดสร้างเพื่อการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ลอดใต้ภูเขาภูบักดีมายังพื้นที่การเกษตรของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนฯ ซึ่งมีความยาวกว่า 710 เมตร นายอำพล ตมโคตร หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 โครงการชลประทานให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฯ ว่าจุดเริ่มต้นของโครงการฯ คือ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านกุดสิม ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง และเสด็จฯ ทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศของแม่น้ำลำพะยังบ้านกุดตอแก่นและอ่างเก็บน้ำห้วยสายนาเวียง ต.คุ้มเก่า ทรงพบว่ามี สภาพแห้งแล้ง ผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรได้ผลไม่สู้ดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึง พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน บ้านดงหมู ต.คุ้มเก่า และบ้านนาวี ต.สงเปลือย อ.เขาวง ทางกรมชลประทานได้สนองพระมหากรุณาธิคุณเริ่มทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนฯ หรือห้วยวังคำเมื่อปี 2537 แล้วเสร็จในปี 2538 เป็นเขื่อน สูง 16.80 เมตร กว้าง 8 เมตร สันเขื่อนยาว 725 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ในปี พ.ศ.2538 มีความจุ 3,500,000 ลูกบาศก์เมตร (ล.ลบม.) ก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายยาว 5 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จใน ปี 2540 และก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวายาว 2.75 กิโลเมตร พร้อมท่อส่งน้ำสายซอยจำนวน 4 สาย ความยาวประมาณ 7.00 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2541 สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ทำ การเกษตรของราษฎรได้ประมาณ 4,600 ไร่ “ต่อมาในปี 2543 ได้ยกระดับเก็บกักน้ำลำพะยังตอนบนฯ สูงขึ้น 0.80 เซนติเมตร เก็บกักน้ำได้เพิ่มอีก 0.50 ล.ลบม. ร่วมอ่างเก็บน้ำแห่งนี้สามารถเก็บกัก น้ำได้ 4,000,000 ลบม. เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคตลอดปี นอกจากนี้ยังสามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างได้อีกส่วนหนึ่ง” นายอำพล บอกผู้สื่อข่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ อยู่ทางฟากจังหวัดมุกดาหารมาเติมให้แก่อ่างเก็บน้ำลำพะยังฯเพื่อขยายพื้นที่รับน้ำชลประทานได้มากขึ้น ขยายระบบส่งน้ำของอ่างเก็บน้ำลำพะยังฯ พร้อมทั้งให้พิจารณาขุดสระน้ำประจำไร่นาให้กับเกษตรกรโดยยึดหลักตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ฯ ขนาดความจุประมาณ 5,000 ล.บม. ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนฯ ประมาณ 16,600 ไร่ ทางกรมชลประทานได้ดำเนินงานขุดสระตั้งแต่ปี พ.ศ.2539-2553 เสร็จไปแล้วจำนวน 168 สระ “เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ เพิ่มเติมสรุปความว่า ให้รีบดำเนินการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่มายังพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำลำ พะยังฯ และให้พิจารณาดูว่าพื้นที่ที่จะส่งน้ำออกจากอุโมงค์ว่า มีพื้นที่ว่างหรือไม่ ให้ดำเนินการปลูกป่าโดยทำเป็นอุทยานเล็กๆ เพื่อทดแทนผลกระทบที่จะเกิดกับป่าไม้ เพราะหากไม่ดำเนินการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่นั้น ราษฎรก็จะบุกรุกป่าและทำลายพื้นที่ลุ่มน้ำลำพะยังจนหมด และน้ำที่ออกมาก็ให้พิจารณาว่าจะนำไปช่วยพื้นที่ลุ่มน้ำลำพะยังฯ ในการบำรุงรักษาป่าให้เกิดความชุ่มชื้นได้มากเพียงใด ตัวอย่างเช่น โครงการลำตะคองพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติยังทำได้เพราะทำแล้วได้ประโยชน์มาก” หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 กล่าวอีกว่า งานอุโมงค์ผันน้ำเป็นการขยายระบบส่งน้ำตามแนวพระราชดำริของอ่างเก็บน้ำลำพะยัง อันเนืองมาจากพระราชดำริ ปี พ.ศ.2546 กรมชลประทานเริ่มก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ลอดใต้ภูเขาภูบักดีมายังพื้นที่ทำการเกษตรของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนฯ อ.เขาวง รวมระยะทางประมาณ 710 เมตร ขุดร่องชักน้ำยาว 750 เมตร วางท่อผัน น้ำยาว 1,860 เมตร ก่อสร้างถังพักน้ำ 1 แห่งแล้วเสร็จในปี 2551 สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ทำการเกษตรของราษฎรประมาณ 12,000 ไร่ “เมื่ออุโมงค์ผันน้ำแล้วเสร็จทำให้พื้นที่ฝั่งโครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยังฯ จ.กาฬสินธุ์ ปัจจุบันมีพื้นที่รับประโยชน์ 4,600 ไร่ เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ได้อีก 12,000 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด 16,600 ไร่ พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯทั้งหมดเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของจังหวัดมุกดาหารและกาฬสินธุ์ ทำให้ผลการเกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 โดยส่งเสริมให้ปลูกพืชในเขตชลประทานที่ ต.สงเปลือย และมีการปลูกพืชเสริมหลังจากการทำไร่นา เช่น ข้าวโพด ยาสูบ ถั่วลิสง กระเทียม ฟักทอง บวบ ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ต่อครอบครัว นอกจากนี้มีการส่งเสริมการผลิตข้าวเหนียวกอเดียว ข้าวหอมมะลิชุมชน รวมถึงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในโรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์ตามโครงการปรับโครงสร้างระบบผลิตการเกษตร 3 แห่งได้แก่ ต.สงเปลือย ต.หนองผือ ต.กุดปลาเค้า เพื่อสนับสนุนการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ” นายอำพล ตมโคตร สรุป จากการเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทำให้ปัจจุบันชาวบ้านในบริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำลำพะยังฯ สามารถทำการเกษตรได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น พื้นที่โดยรอบมีความอุดมสมบูรณ์ชุมชื้นตลอดปีไม่ขาดแคลนน้ำดังแต่ก่อน เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ฯ จนประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ด้วยเพราะชาวบ้านได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากการทำอาชีพเกษตร มีรายได้เลี้ยงตนเอง ครอบครัวได้อย่างพอเพียงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หมอดินวิศักดิ์ อารมณ์สวะ บ้านเลขที่ 32/1 บ้านโขนสูง หมู่ 7 ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง กล่าวว่า เมื่อก่อนครอบครัวและญาติพี่น้องจะมีอาชีพการทำนาเพียงอย่างเดียว ต่อมาได้แนะนำให้ทดลองทำเกษตรผสมผสานที่ เรียกว่า "เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ" ตอนนั้นยังไม่มีใครคิดที่จะเปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก จึงได้ใช้พื้นที่ของตนเองทำเกษตรทฤษฎีใหม่ฯ เพื่อให้ชาวบ้านและคนในครอบครัวได้เห็นถึงผลประโยชน์ของการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยใช้หลักการจัดการทรัพยากรคือที่ดินและน้ำมีพื้นที่ไม่มากนักจะแบ่งเป็น 4 ส่วนก็คือ 30:30:30:10 “จัดสรรให้พื้นที่ประมาณ 30 % ทำการขุดสระเก็บน้ำเพื่อใช้กักเก็บน้ำฝน มีการเลี้ยงปลา หน้าแล้งใช้น้ำจากสระทำการปลูกพืชเสริม เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มะเขือเทศ เป็นต้น ทำให้เกิดงานเกิดอาชีพและรายได้ต่อเนื่อง พื้นที่ในส่วนที่สองอีก 30 % ทำการปลูกข้าวเก็บไว้บริโภคภายในครอบครัวส่วนหนึ่งตลอดทั้งปี ที่เหลือก็ขายสามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น และพื้นที่ส่วนที่สามประมาณ 30% จะทำการปลูกต้นไม้ ปลูกไม้ผล พืชผักสวนครัว พืชไร่ตามฤดูกาลเอาไว้บริโภคและนำไปขายบางส่วนก็มีรายได้จากตรงนี้ด้วยครับ ส่วนที่เหลือประมาณ 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ผักสวนครัวรั้วกินได้ เลี้ยงสัตว์ปล่อยแบบธรรมชาติ เช่น ไก่ เป็ด หมู” หมอดินวิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตนเองได้รับการยอมรับจากชาวบ้านและสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ประสบการณ์เรื่องการพัฒนาดินในด้านต่าง ๆ เช่น วิธีการปรับปรุงดิน การอนุรักษ์น้ำและดิน การปลูกหญ้าแฝก การทำปุ๋ยหมักดิน ปรับปรุงแปลงนา เป็นต้น ขอให้เป็นสื่อกลางในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร อบรมเกี่ยวกับการพัฒนาดินให้กับเกษตรกรที่สนใจเพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่ทำกินของตนเองได้ โดยใช้พื้นที่ของตนเองเป็นสถานที่ศึกษา ซึ่งการพัฒนาเกิดขึ้นได้ก็เนื่องจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนฯ ที่ทำให้คนในชุมชนไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำมีการจัดสรรอย่างเท่าเทียมกันและเป็นระบบจากทางกรมชลประทานที่คอยดูแลให้ชาวบ้านมีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่อง มีเพียงพอเพื่อทำการเกษตรตามฤดูกาล และคนในชุมชนถ่อยทีถ้อยอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จากนั้นคณะมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เดินทางไปยังโรงงานหลวง อาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร ฟังการบรรยายสรุปถึงความเป็นมาและประโยชน์การก่อตั้งโรงงานหลวงฯ โดยคุณจำลอง ยอดสุรินทร์ ผู้จัดการโรงงาน ให้ข้อมูลว่า เมื่อก่อนหมู่บ้านนางอย-โพนปลาไหล ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก การทำอาชีพเกษตรกรรมได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ทอดพระเนตรเห็นความขาดแคลนอาหารและน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคที่หมู่บ้านนางอย-โพนปลาไหล จึงมีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือราษฎร โดยมีพระราชดำริดังนี้ “ปรับปรุงความเป็นอยู่ของราษฎรหมู่บ้านนางอย-โพนปลาไหลให้ดีขึ้น ส่งเสริมให้มีรายได้เพิ่มขึ้น หลังจากพัฒนาแล้ว ราษฎรสามารถ รักษาสภาพความเป็นอยู่ และพัฒนาต่อไปได้ด้วยกลุ่มชาวบ้านเอง” อ่านต่อ