ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง ภาพ: สิริภูมิ ชูวงศ์ตระกูล "สัตว์หิมพานต์ สู่ป่าหิมพานต์พระเมรุมาศ" นำภาพความน่ารักของงานปั้นสัตว์หิมพานต์ประดับสระอโนดาต พระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) มาให้ชม ที่ตอนนี้จิตรกรกำลังลงสีทองบนลายเครื่องประดับสัตว์หิมพานต์อยู่จำนวนหนึ่ง กล่าวถึงการจัดสร้างสัตว์หิมพานต์ประดับพระเมรุมาศกันสักเล็กน้อย “การสร้างสัตว์หิมพานต์ประกอบงานพระบรมศพและพระศพ เป็นราชประเพณีสืบต่อกันมาช้านาน ด้วยความเชื่อเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทวราชดังกล่าว เมื่อเสด็จสวรรคตจึงจัดสร้างพระเมรุมาศ โดยมุ่งหมายให้เขาพระสุเมรุมีเขาสัตตบริภัณฑ์รายล้อม ซึ่งดาษดื่นด้วยสิงสาราสัตว์นานาพันธุ์ ในอดีตมีการผูกหุ่นรูปสัตว์เข้าขบวนแห่พระบรมศพและพระศพไปสู่พระเมรุ และจัดทำโรงรูปสัตว์รายรอบพระเมรุมาศและพระเมรุ เป็นต้น” (อาวุธ เงินชูกลิ่น , ประวัติราชประเพณีพระบรมศพ) สัตว์หิมพานต์ในพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 ประดับไปด้วยสิงสาราสัตว์นานาพันธุ์ตั้งบนโขดหินเทียมในสระอโนดาตรอบพระเมรุมาศ “จากด้านข้างหนึ่งของรูปสัตว์ชนิดหนึ่ง ผ่านมุมพระเมรุมาศสู่ด้านข้างอีกหนึ่งของรูปสัตว์อีกชนิดหนึ่งจะตกแต่งเป็นสระน้ำ เขามอที่ประดับไปด้วยพันธุ์พืชสวยงาม รูปปั้นสัตว์ขนาดย่อส่วนลงสีของสัตว์สำคัญเป็นลักษณะต่างๆ เพื่อให้เข้ากับเรื่องราวความเป็นป่าหิมพานต์” (อำพล สัมมาวุฒธิ นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่างศิลปกรรมฯ) สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร , องค์ความรู้ : งานศิลปกรรมและงานประณีตศิลป์ เพื่อใช้ประกอบในพระราชพิธีและประกอบพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 , พิพิธภัณฑ์เสวนา ครั้งที่ 5 2560) การจัดสร้างสัตว์หิมพานต์ครั้งนี้ ดำเนินการโดยคณะช่างปั้นปูนสดอาสาสมัครจังหวัดเพชรบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร เพาะช่างดำเนินการปั้นประติมากรรมช้าง 10 ตระกูล จำนวน 30 ตัว เป็นช้างตระกูลพรหมพงศ์ มีช้าง 10 หมู่ ประกอบด้วยหมู่ที่ 1 ฉัททันต์ หมู่ที่ 2 อุโบสถ หมู่ที่ 3 เหมหัตถี หมู่ที่ 4 มงคลหัตถี หมู่ที่ 5 คันธหัตถี หมู่ที่ 6 ปิงคัล หมู่ที่ 7 ดามพหัตถี หมู่ที่ 8 บัณฑระนาเคนทร หมู่ที่ 9 คงไคย หมู่ที่ 10 กาฬวกะหัตถี นอกจากนี้มีสัตว์ผสม อาทิ กุญชรวารี (ลงสีแล้ว) วารีกุญชร กรินทปักษา พญานาคหัวช้าง “ขณะนี้ทีมช่างปั้นได้ทำการปั้นช้างต้นแบบครบทั้ง 30 ตัว” ประสิทธิ เอมทิม หัวหน้าสาขาประติมากรรมไทย ภาควิชาศิลปะประจำชาติ วิทยาลัยเพาะช่าง กล่าว และว่า รอกรมศิลปากรตรวจต้นแบบอีกครั้ง จะปรับแต่งส่วนใด เมื่อตรวจเสร็จดีแล้วดำเนินการทำพิมพ์ หล่อไฟเบอร์กลาส และเข้าสู่กระบวนการลงสีตามลำดับ(5 ก.ค. 60) ส่วนสัตว์หิมพานต์ ตัวน้อยๆ น่ารักน่าเอ็นดูของงานช่างฝีมือคณะช่างปั้นปูนสดเมืองเพชรบุรี (และประติมากรหลายจังหวัด รวม 30 คน) ร่วมกันปั้นสัตว์หิมพานต์จำนวน 100 ตัว ได้ทยอยส่งงานชุดแรก 20 ตัว ประกอบด้วย ม้า สิงห์ นกทัณฑิมา นกหัสดิลิงค์ นกวายุภัคดิ์ นรสิงห์ นาค นกอรหัน นำมาทดลองติดตั้งบนโขดหินเทียมที่สำนักช่างสิบหมู่ จ.นครปฐม (18 มิ.ย. 60) สมชาย บุญประเสิรฐ หัวหน้าทีมช่างปั้นเมืองเพชรบุรี กล่าวว่า “คาดว่าจะส่งมอบงานอีก 30 ตัวได้ในสิ้นเดือนกรกฎาคม เป็นม้า โค สิงห์ สัตว์ผสม ทั้งนี้จะจัดทำครบทั้งหมด 100 ตัวภายในเดือนสิงหาคมนี้” ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการนำโขดหินเทียมและสัตว์หิมพานต์ลองไปทดลองวางในสระอโนดาตพื้นที่จริงพระเมรุมาศ “ภาพรวมมีการปรับแก้เล็กน้อย จัดวางหินเทียมให้ลงตัวกับขอบบ่อสระอโนดาต ส่วนงานปูนปั้นสัตว์หิมพานต์ของเพชรบุรีจะหาวิธีการวิธีซ่อนรอยต่อของเท้าสัตว์เพื่อให้ยึดติดกับหินเทียมอย่างสนิท” พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กล่าว ด้านงานลงสีสัตว์หิมพานต์ของช่างเมืองเพชรบุรีนั้น กลุ่มจิตรกรรมสำนักช่างสิบหมู่ และจิตรกรอาสา กำลังดำเนินการลงสีอยู่ที่โรงประติมากรรมต้นแบบ “เบื้องต้นได้ลงสีทองบนลายเครื่องประดับสัตว์หิมพานต์ไปก่อน ส่วนสีลำตัวของสัตว์นั้นรอรูปแบบและความชัดเจนจากภูมิสถาปนิกว่าจะลงสีโทนไหน เพื่อที่ให้มีความกลมกลืนและสวยงามสอดคล้องกับสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ” สุรัฐกิจ พรีพงศ์ศิลป์ หัวหน้ากลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กล่าว (8 ก.ค. 60) ส่วนตรงนี้นำภาพความน่ารักของเหล่าสัตว์หิมพานต์ ทั้งงานปั้นช้างต้นแบบของวิทยาลัยเพาะช่าง และงานปั้นปูนสดของกลุ่มช่างเมืองเพชรบุรีมาให้ชมแบบรวมๆ ชุดแรกก่อน สำหรับชื่อช้างและสัตว์หิมพานต์แต่ละชิ้นงานประกอบภาพนั้น (บางชิ้นงานไม่ได้กำกับชื่อแท่นฐานปั้นไว้) จะมานำเสนอตอนลงสีเสร็จเรียบร้อยแล้วอีกครั้ง สัตว์หิมพานต์สู่ป่าหิมพานต์พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9