ประมงจังหวัดสกลนคร เตรียมยกระดับปลาสวาย หลังคนไทยไม่นิยมบริโภค และเกษตรกรไม่นิยมเลี้ยงเพราะราคาถูก ทั้งที่มีโอเมกา 3 สูงกว่าปลาทะเลน้ำลึก เตรียมเรียกอีกชื่อเป็นปลาโอเมกา 3 ผลักดันการเลี้ยงหวังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ว่าที่ ร้อยโท สมพร กุลบุญ ประมงจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ปลาสวายเป็นปลาที่ผู้บริโภคน้อย เนื่องจากปลาดังกล่าว มักจะอาศัยอยู่ในน้ำขุ่น หากผู้บริโภคนำมาชำแหละรับประทานจะมีกลิ่นคาวมาก เพราะปลาสวายมีเส้นกลิ่นคาวอยู่ข้างลำตัว จึงไม่นิยมนำมารับประทาน ประกอบกับราคาที่ไม่สูงมาก โดยราคารับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 30-35 บาท ผู้บริโภคจึงมองว่าเป็นปลาไม่อร่อย แต่ข้อเท็จจริงปลาสวายนั้น เป็นปลาที่มีโอเมกา 3 สูงมาก สูงกว่าปลาทะเลน้ำลึก หากบริโภคแล้วจะมีผลดีต่อสุขภาพ ดังนั้น จะต้องดำเนินการยกระดับปลาสวาย ซึ่งเปี่ยมไปด้วยโอเมกา 3 ให้คนเห็นความสำคัญของปลาสวายแล้วหันมาบริโภค ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการทำงานของสมอง ช่วยเพิ่มมูลค่าของปลาสวายให้มีราคามากขึ้น โดยทำให้ปลามีคุณค่า ด้วยการแปรรูปให้เด็กๆรับประทานได้ ประมงจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบว่า ปลาสวายมีโอเมกา 3 ที่สูงมาก 2,570 มก. ต่อน้ำหนัก 100 กรัม มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว พร้อมกับเปลี่ยนชื่อปลาสวายเป็นปลาโอเมกา 3 เพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เปรียบเสมือนดอกลั่นทมที่ไม่มีใครนิยมปลูกในบ้าน พอเปลี่ยนชื่อเป็นลีลาวดี ปรากฎว่ามีคนนิยมปลูกจำนวนมาก ดังนั้น หากเราจะเรียกชื่อจากปลาสวายเป็นปลาโอเมกา 3 ก็ไม่แปลก ปลาสวายหรือปลาโอเมก้า สามารถนำไปประกอบอาหารเป็นเมนู ลาบ ต้มแซ่บ ปลาแดดเดียว หมกปลา ลวกจิ้ม หรือดัดแปลงเป็นเมนูอื่น ให้ร้านอาหารนำไปประกอบอาหารสร้างกลไกทางเศรษฐกิจ ควรส่งเสริมให้คนไทยบริโภคปลาน้ำจืดที่มีประโยชน์สูง ราคาถูก ที่สำคัญต้องส่งเสริมทุกโรงเรียนเลี้ยง ให้เยาวชนได้บริโภคปลา เพราะมีผลต่อการพัฒนการทางสมองของนักเรียน.