ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการกิจการเพื่อสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี ร่วมบรรยายเรื่องราวเส้นทางทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในการทัศนศึกษาโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นกลุ่มผู้นำชุมชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ เพื่อศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้ชื่อกิจกรรม "รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย" ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ดร.สุเมธ กล่าวว่า แนวทางการสร้างฝายชะลอน้ำ ในพื้นที่ป่าห้วยฮ่องไคร้ ถือเป็นโครงการในพระราชดำริยุคแรกๆ ที่มีการสร้างฝายธรรมชาติ เพื่อเก็บกักน้ำบริเวณผิวดินเอาไว้ จากน้ำ ก็ขยายผลสู่ป่า จากพื้นที่ที่เคยแห้งแล้ง และถูกแผ้วถางทำลาย ก็กลับฟื้นคืนสู่ธรรมชาติสีเขียวที่อุดมสมบูรณ์ภายในเวลาไม่กี่ปี "วันนี้เราพาคณะตัวแทนชุมชนและเยาวชนมาที่ห้วยฮ่องไคร้ เพราะที่นี่เป็นต้นแบบของการฟื้นฟูป่าที่เห็นผลประจักษ์และเป็นเรื่องที่น่าดีใจที่วันนี้กลุ่มผู้นำชุมชน และเยาวชน เข้ามาศึกษาดูงานในโครงการพระราชดำริ และมีแรงบันดาลใจ มุ่งมั่นที่จะสานต่อพระราชปณิธาน ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการขยายผลสู่ชุมชนและกลุ่มคนรุ่นใหม่ ” ดร.สุเมธ กล่าว ด้านนายพงษ์วิศิษฐ์ ปะนัดถา นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า นอกจากองค์ความรู้เรื่องการสร้างฝายชะลอน้ำแล้ว สิ่งที่เขาได้รับกลับไปบ้าน ยังมีเรื่องของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มผู้นำชุมชนต้นแบบด้านการบริหารจัดการน้ำ การทำงานเป็นทีมร่วมกับเพื่อนๆ ที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ และการศึกษาพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนที่ห้วยฮ่องไคร้ เขายังได้รับแรงบันดาลใจและกำลังใจในการนำความรู้ทั้งหมด กลับไปถ่ายทอดให้กับเยาวชนตัวเล็กๆ ตามบทบาทของนิสิตฝึกสอนของตัวเองอีกด้วย พงษ์วิศิษฐ์ ปะนัดถา "ผมเรียนครู เราอยู่กับเด็กและเยาวชน จากนี้จนถึงวันที่เราได้เป็นครูจริงๆ ผมมีความตั้งใจว่า เราจะปลูกฝังเรื่องราวเหล่านี้ให้กับพวกเขาให้ได้ โดยจะต้องเริ่มจากตัวเรา ทำให้เขาเห็นตัวอย่างที่ดี พาเด็กๆ ไปลงมือสร้างฝายกัน สร้างอย่างถูกต้อง สร้างอย่างมีที่มาที่ไป ให้เขาเกิดความเข้าใจเรื่องการดูแลน้ำ ดูแลป่า ดูแลพื้นดิน เมื่อเขาเห็นตัวอย่างเหล่านี้ และได้ลงมือทำ ไม่ใช่แค่บอกเล่าหรือสอน ผมเชื่อว่าเด็กๆ ก็จะขยายผลสู่ครอบครัว สู่ชุมชนของพวกเขาต่อไปได้" นายพงษ์วิศิษฐ์ กล่าว สุจินต์ สมทรง ส่วนนายสุจินต์ สมทรง ประธานชุมชนบ้านในหวัง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เล่าให้ฟังว่า พื้นที่ทุ่งสง แม้จะอยู่ในภาคใต้ที่ได้ชื่อว่าฝนแปด แดดสี่ แต่ก็ยังประสบปัญหาภัยแล้งทุกๆ ปี ในขณะที่การสร้างฝายด้วยภูมิปัญญาของคนในพื้นที่เองอาจจะทำอย่างไม่ถูกต้อง การได้มาเรียนรู้วิธีการสร้างฝายชะลอน้ำที่บ้านห้วยฮ่องไคร้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้นำความรู้เหล่านี้กลับไปปรับใช้ และผสมผสานกับองค์ความรู้ของท้องถิ่น เพื่อให้การบริหารจัดการแหล่งน้ำของชุมชนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เดือน คงมณี เช่นเดียวกับ นายเดือน คงมณี ผู้ใหญ่บ้านและประธานป่าชุมชน อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ตนเคยมาดูงานที่ห้วยฮ่องไคร้เมื่อปี 2538 แล้วนำแนวทางกลับไปใช้ วันนี้ได้เห็นน้ำเริ่มผุดใต้ดิน ดินอุ้มน้ำได้ และหน้าแล้ง พืชไร่จะมีสีเขียว เพราะมีความชื้นแล้ว และตนกลับมาที่นี่อีกครั้งเพื่อมารับเอาแรงบันดาลใจ รับองค์ความรู้ใหม่ๆ กลับไปใช้กับพื้นที่ ต้องบอกว่า ป่านี้ถ้าคนรู้จักกิน รู้จักใช้เราก็อยู่ได้ทั้งปี ป่ายังช่วยลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ชาวบ้านก็ไม่ค่อยเป็นหนี้แล้ว โครงการต้นแบบได้เดินหน้ากิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ ปลุกพลังบวกของเยาวชน และผู้นำชุมชน จากทั่วประเทศให้ร่วมเดินตามแนวทางพระราชดำริ เพื่อความอยู่ดีกินดี และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติสมดังพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน ที่ทรงตั้งพระทัยมั่นในการทรงงานเพื่ออนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติผ่านการสร้างฝายชะลอน้ำสู่การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทีมข่าวภูมิภาค