ยื่นข้อเสนอ 2 ประเด็นหลัก ให้ทำเป็นสตรีตฟู้ดสำหรับคนรายได้น้อย และขอขายต่อจุดเดิม พร้อมรับปากดูแลพื้นที่อย่างดี ขณะผู้ว่าฯอัศวินรับทุกข้อเสนอไปพิจารณาในทุกมิติว่าทำได้-ไม่ได้ ย้ำยึดเป็นธรรมทุกฝ่าย ยันทำงานไม่มีช้า ขณะ”อำนวย” ชี้ไม่เพียงเฉพาะที่มาร้องวันนี้เท่านั้น แต่จะรับพิจารณาให้ในทุกจุดที่จัดระเบียบ ยกเว้น 38 จุดที่ไปฟ้องศาลปกครองก่อนหน้า โดยมีคณะทำงานร่วมก.พาณิชย์-กทม.จัดหาที่ให้กลุ่มได้รับผลกระทบ-จัดหาเงินทุนให้ เมื่อวันที่ 17 ก.ค.60 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.เป็นประธานประชุมแก้ไขปัญหาการจัดระเบียบทางเท้าร่วมกันระหว่างผู้ค้ากับกทม.เพื่อรับฟังปัญหาและความคิดเห็นของผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกจุดผ่อนผันและจัดระเบียบพื้นที่ รวมถึงร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหา หาทางออก และให้ความช่วยเหลือผู้ค้าที่ได้รับความเดือดร้อนจากการจัดระเบียบทางเท้า สืบเนื่องจากมีผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ได้รับผลกระทบได้รวมตัวกันมาหารือกับกทม.โดยนายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.กทม.นำเข้าพบผู้ว่าฯ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้มีคณะผู้บริหารกทม. ตัวแทนผู้ค้าหาบเร่แผงลอยจากทุกกลุ่มเขตทั่วกทม. 100 คน นายวัชระ เพชรทอง และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ ณ ศาลาว่าการกทม. นอกจากนี้ มีผู้ค้าจาก 50 เขตที่เดินทางมาร่วม 1,000 คน รอฟังผลการประชุมอยู่ที่ลานคนเมือง โดยใช้เวลาประชุม 2ชั่วโมงกว่า ในที่ประชุมผู้ค้าได้เสนอข้อเรียกร้องในหลายจุด อาทิ ห้วยขวาง, บ่อนไก่, ราชดำริ/เซ็นทรัลเวิลด์, ประตูน้ำ, ราษฎบูรณะ, โพธิ์สามต้น, ทวีวัฒนา, สาทร, หน้าม.รามคำแหง, ซอยจรัล 13, มหานาค(ดุสิต), ปากซอยโชคชัยสี่/สะพานสอง (วังทองหลาง), สะพานพุทธ, สีลม (บางรัก), ราชประสงค์, วัฒนา ทั้งหมดขอใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ทำสตรีทฟู้ด เป็นแหล่งอาหารในคนฐานรากผู้มีรายได้น้อย หรือตลาดชุมชน 2.ขอให้ช่วยเหลือให้ค้าขายจุดเดิมได้ ยินดีพัฒนาพื้นที่จัดระเบียบเองและจะทำตามข้อกำหนดของกทม. ถ้ามีการตั้งกรรมการพิจารณาผู้ค้าขอเข้าร่วมด้วย ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า กทม.จะรับข้อเรียกร้องทั้งหมดไว้และนำไปสู่การพิจารณาร่วมกับหน่วยงานส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยจะดูปัญหาทุกมิติตลอดจนความเห็นของประชาชน ว่าสามารถทำได้หรือทำไม่ได้ คำตอบไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้ว่าฯ หลังจากรวบรวมข้อเสนอแนะทั้งหมดเพื่อตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาในระดับเขตพื้นที่อีกครั้งทั้งนี้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งประชาชนที่สัญจรทางเท้า ผิวจราจร บ้านเรือนเพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีระบบ ซึ่งจะให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุดซึ่งนโยบาย NOW ของตนไม่เคยช้า ซึ่งระหว่างการพิจารณาจะไม่อนุญาติให้ผู้ค้าเข้ามาทำการค้า พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าฯกล่าวว่า ทุกจุดที่กทม.ได้จัดระเบียบไปจะได้รับการพิจารณาทั้งหมด ไม่เฉพาะที่มาร้องเรียนในวันนี้เท่านั้น ยกเว้น 38 จุด ที่ไปฟ้องศาลปกครอง 24 คดี จะพิจารณาไม่ได้เพราะจะสุ่มเสี่ยงละเมิดหรือเป็นการก้าวล่วงศาล ทั้งนี้ จะตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างก.พาณิชย์และกทม. เพื่อจัดหาสถานที่ให้ผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบ คัดเลือกผู้ค้าและกำหนดหลักเกณฑ์ รวมถึงจัดหาเงินทุนให้ผู้ประกอบการค้ารายย่อย โดย กทม.จะแต่งตั้งกรรมการพิจารณาแต่ละจุด ประกอบด้วย ผอ.เขต ผู้กำกับสน.ท้องที่ สมาชิกสภากทม. ผู้แทนประชาคม ผู้แทนผู้ได้รับผลกระทบจากการค้า ผู้แทนผู้ค้า สื่อมวลชน ผู้แทนก.พาณิชย์ และผู้แทนทหาร พิจารณาในทุกมิติ โดยผู้ว่าฯจะแต่งตั้งในเร็วๆนี้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมากทม.ได้เข้าจัดระเบียบทางเท้า หาบเร่ แผงลอย ภายใต้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ปัจจุบันจัดระเบียบทางเท้าได้แล้ว 613 จุด ผู้ค้า 42,400 ราย ระยะทางรวม 111.71 กิโลเมตร พื้นที่ต่างๆ มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ประชาชนใช้สัญจรได้อย่างสะดวกปลอดภัย