สำหรับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ภายใต้การนำของ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการคนล่าสุด พร้อมเดินหน้าพัฒนาองค์กรเป็นหน่วยงานหลักด้านไมซ์ที่พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม เพื่อความเจริญ และกระจายรายได้ ชู 4 แนวทางยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ให้มั่นคง มุ่งเติบโตคู่ขนานกับการพัฒนาประเทศ ในตลาดที่มีศักยภาพ อย่างเท่าเทียมและเข้มแข็ง พัฒนาธุรกิจไมซ์ครบทุกมิติ ทั้งนี้ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บ เป็นองค์กรของรัฐที่ตั้งขึ้นโดยมีพันธกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมในภาคบริการด้านธุรกิจที่สำคัญซึ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีหน้าที่โดยตรงในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ให้ครบทุกมิติ จากสถิติในรอบ 10 ปีที่ผ่าน พบว่าประเทศไทยมีรายได้จากธุรกิจไมซ์ทั้งในและต่างประเทศประมาณ 150,000 ล้านบาท สร้างอัตราจ้างแรงงานประมาณ 164,000 ตำแหน่ง และมูลค่าภาษีจากธุรกิจประมาณ 10,500 ล้านบาท นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2559 สมาคมประชุมนานาชาติของโลก หรือ ICCA จัดอันดับไทยให้เป็นเมืองที่มีจำนวนการจัดประชุมสูงถึง 151 งาน โดยเติบโตสู่อันดับที่ 24 จากอันดับที่ 27 เมื่อปี 2558 ขณะที่ด้านการแสดงสินค้านานาชาติ สมาคมด้านการแสดงสินค้าระดับโลก หรือ UFI ให้ ไทยติดอันดับ 1 ของอาเซียนในด้านพื้นที่ขายสุทธิของการจัดงานแสดงสินค้าตลอด 5 ปี (พ.ศ.2554-2558) ด้านพื้นที่จัดงานแสดงสินค้าโดยรวมนั้น ไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของเอเซีย นอกจากนี้ไทยยังมีพื้นที่รวมสำหรับจัดงานแสดงสินค้าสูงถึง 256,984 ตารางเมตร ใน 9 ศูนย์ประชุมในกรุงเทพฯ และเมืองไมซ์สำคัญ ผุด 4 แนวทางยกระดับไมซ์ ซึ่ง นายจิรุตถ์ ได้กล่าวต่อว่า การสร้างไมซ์ให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศ จึงเกิด 4 แนวทาง คือ 1. เติบโตคู่ขนานกับการพัฒนาประเทศ เน้นการรักษาตลาดเดิม และเพิ่มตลาดใหม่ โดยนำไมซ์คู่ขนานกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดึงอุตสาหกรรมไมซ์เข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายของชาติ 2 .เติบโตในตลาดที่มีศักยภาพ มุ่งเน้นภูมิภาคที่มีความเติบโตสูง และมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย 3. เติบโตอย่างเท่าเทียม โดยขยายโอกาสให้อุตสาหกรรมไมซ์เติบโตอย่างเหมาะสมในจังหวัดที่มีศักยภาพ ทั้งจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น พัทยา จังหวัดชลบุรี และสงขลา และ 4. เติบโตอย่างเข้มแข็ง ซึ่งจะต้องพัฒนาระบบภายในให้ตอบโจทย์ พัฒนาองค์กรและกฎระเบียบต่าง ๆ รองรับการดำเนินงานในอนาคตได้ดีขึ้น โดยมีการกำหนด 5 กลยุทธ์ที่เป็น QUICK WIN เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ ประกอบด้วย กลยุทธ์ที่ 1 ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นผู้นำไมซ์ในเวทีโลก โดยการดำเนินโครงการสำคัญ อาทิ โครงการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยการสร้างมาตรฐานสำหรับสถานที่จัดงานไมซ์ โครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไมซ์ได้รับการรับรองมาตรฐานวิชาชีพจากสถาบันด้านไมซ์ระดับโลก โครงการเข้าร่วมงานเทรดโชว์ และโรดโชว์ในตลาดเป้าหมายในภูมิภาคเอเซีย ยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง อย่างน้อย 8-10 งานต่อปี ส่วนกลยุทธ์ที่ 2 เป็นผู้นำการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในภาครัฐและเอกชน เน้นทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานรัฐและเอกชน โดยมีโครงการสำคัญ อาทิ โครงการร่วมมือกับผู้ประกอบการไมซ์ภาคเอกชน ดึงงานระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย โครงการ Thailand MICE UNITED สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อผลิตสินค้า และบริการด้านไมซ์ให้แก่นักเดินทางกลุ่มไมซ์ โครงการจัดตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานภาครัฐเพื่อการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า และบริการอุตสาหกรรมไมซ์ (กรอ ไมซ์) อันมีพันธกิจในการศึกษา และจัดทำแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การดำเนินธุรกิจไมซ์ในประเทศไทย กระจายงานจากกรุงเทพสู่ภูมิภาค ขณะที่ กลยุทธ์ที่ 3 กระจายเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมไมซ์สู่ภูมิภาค เน้นการชูธุรกิจไมซ์เป็นแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น ผลักดันอุตสาหกรรมแสดงสินค้าไทยสู่ภูมิภาคเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับเมืองไมซ์ ผ่านการสร้างงานแสดงสินค้าใหม่ กระจายงานจากกรุงเทพสู่ภูมิภาค เน้นผลักดันให้เกิดงานแสดงสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สำหรับกลยุทธ์ที่ 4 ผลักดันใช้นวัตกรรม และ สร้าง MICE Intelligence เพื่อสนับสนุนและยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน เน้นแนวคิดการสร้างงานแบบสมาร์ทไมซ์ (SMART MICE) เพิ่มความทันสมัย ยั่งยืน สร้างสรรค์ ช่วยสร้างประสบการณ์และความน่าสนใจให้แก่การจัดงานไมซ์ / โครงการ MICE Intelligence & MICE Innovation ที่รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ทิศทางตลาด และแผนพัฒนาธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน เพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน กลยุทธ์ที่ 5 ผลักดันทีเส็บในฐานะองค์กรที่มีความโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2560 น่าจะมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์เดินทางเข้าในประเทศไทยรวม 27.1 ล้านคน สร้างรายได้ 155,000 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ 1,109,000 คน สามารถสร้างรายได้ประมาณ 101,000 ล้านบาท และ นักเดินทางกลุ่มโดเมสติกไมซ์ 26 ล้านคน สร้างรายได้ 54,000 ล้านบาท และยังสามารถบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนไมซ์ให้เป็นกลไกในการสร้างความเจริญ กระจายรายได้ผ่านอุตสาหกรรมไมซ์สู่ภูมิภาค สร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ