“เศรษฐกิจดี ครอบครัวอบอุ่น ประชาชนมีคุณภาพ ศักยภาพของผู้นำก้าวหน้า นำพาชุมชนสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” คือวิสัยทัศน์ของ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (วิถีแห่งอินทรีย์) หมู่ 6 บ้านฉลอง ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต หรืออีกนัยหนึ่งคือ ฉันทามติของสมาชิกในชุมชนที่พร้อม จะขับเคลื่อน “หมู่บ้านวิถีอินทรีย์” แห่งแรกของอันดามัน สนองพระมหากรุณาธิคุณโดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ภายใต้การดำเนินงานของ คลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต(มรภ.ภูเก็ต) ที่ประสบความสำเร็จจากการเป็นพี่เลี้ยงให้ หมู่บ้านผลิตเห็ดอินทรีย์ บ้านลิพอน หัวหาร-บ่อแร่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2559 คลินิกเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ เทศบาลตำบลฉลอง ได้เปิดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงฯ เป็นหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง ที่ 2 ของ จ.ภูเก็ต โดยมี ดร.ประเจียด อักษรธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน ร่วมด้วย นายดิสัน แหล่ทองคำ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต(มรภ.ภูเก็ต) นายรังสรรค์ พลสมัคร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายสำราญ จินดาพล นายกเทศมนตรีตำบลฉลอง ตลอดจน ตัวแทนส่วนราชการ ชาวบ้าน และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ หมู่ 6 บ้านฉลอง นายกิตติศักดิ์ จิตต์เกื้อ รองผู้จัดการคลินิกเทคโนโลยี เผยถึงที่มาของการเปิดหมู่บ้านแม่ข่ายแห่งที่ 2 ว่า “ม.ราชภัฏภูเก็ต มีพันธกิจในการให้บริการวิชาการ และพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเห็นเป็นรูปธรรมแล้วจากหมู่บ้านเห็ดอินทรีย์ในหมู่บ้านลิพอน สำหรับหมู่ 6 บ้านฉลอง คือหมู่บ้านต้นแบบวิถีอินทรีย์ ซึ่งคลินิกเทคโนโลยี จะนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมให้บริการ แก่หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงฯ โดยเน้นย้ำให้ชาวบ้านเดินตามแนวพระราชดำริวิถีแห่งความพออยู่พอกิน ใช้ประโยชน์จากวัสดุที่มีอยู่ท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการตระหนักถึงปัจจัยสำคัญ ที่เอื้อต่อการเจริญงอกงามของพืชผลคือแหล่งน้ำ การเพิ่มต้านไม้เพื่อการสร้างความชุ่มชื้น ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยความขยัน อดทน ไม่โลภและนำความรู้ในการทำการเกษตรแบบครบวงจรตามแนวทางห่วงโซ่แห่งคุณค่า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มคุณภาพการผลิต เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ลดค่าใช้จ่าย ขยายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในชุมชน ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร โดยหวังว่าการจัดตั้งหมู่บ้านฯ จะทำให้สมาชิกในชุมชน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างงาน สร้างอาหาร สร้างรายได้ จากผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ และพืชผักปลอด ภัยจากสารพิษ นอกจากนั้นจะมีการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ผลักดันให้หมู่บ้านแห่งนี้ เป็นต้นแบบของหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ แห่งแรกในอันดามัน ด้วยระบบ PGS : Participatory Guarantee Systems เป็นระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์ โดยชุมชนด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งจะต้องมีการตรวจประเมิน และรับรองเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้คลินิกเทคโนโลยี จะเป็นผู้ถ่ายทอดกระบวนการ และองค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่หมู่บ้านฯ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งหมู่บ้านฯ สามารถดำเนินการได้อย่างครบวงจรและมีคุณภาพในที่สุด” ด้าน นายสำราญ จินดาพล นายกเทศมนตรีตำบลฉลอง ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ตำบลฉลอง มีชื่อเสียงด้านการเป็นที่ตั้งของวัดคู่บ้านคู่เมือง คือ วัดฉลอง มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และกิจกรรมแอดเวนเจอร์อีกหลากหลาย เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว แต่พื้นที่หมู่ที่ 6ที่ตั้งล้อมรอบด้วยธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และมีวิถีชีวิตของชาวบ้านที่พึ่งพาตนเอง เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ที่ผลิตสินค้าการเกษตรที่ปลอดสารพิษป้อนตลาด ถือเป็นของเด็ดชาวตำบลฉลองที่น้อยคนจะทราบ ดังนั้น ถือเป็นโอกาสทองของคนฉลอง ที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพทางการเกษตร ที่ไม่เป็นสองรองใคร เมื่อมาสมทบกับความน่าเชื่อถือของ ม.ราชภัฏภูเก็ต ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาทีมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในระดับภูมิภาคและประเทศ และทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือในทุกกระบวนการดำเนินการของหมู่บ้าน ที่สำคัญคือการน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาปลูกฝังประชาชนให้ยึดหลักดำเนินชีวิตด้วยความขยัน อดทน ไม่โลภ สามัคคีพึ่งพากัน เมตตารักใคร่ปรองดองกัน ที่เป้าหมายคือความสุขอย่างยั่งยืนบนความเข้มแข็งของครอบครัว ชุมชนในทางดำเนินชีวิต จะยิ่งช่วยให้หมู่บ้านวิถีอินทรีย์แห่งนี้ได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากสังคมยิ่งขึ้น นายปรีชา นาคเกิด ประธานหมู่บ้านวิถีอินทรีย์ หมู่ 6 บ้านฉลอง เล่าถึงแนวทางการขับเคลื่อนชาวชุมชนในการดำเนินชีวิตด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯและความคาดหวัง ว่า “สมาชิกในหมู่บ้านมีจำนวนกว่าพันคน โดย 40 เปอร์เซ็นต์ ทำการเกษตรสำหรับบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายยังตลาดนัดในชุมชนในละแวกใกล้เคียง เนืองจากมีความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ ทรัพยากร ทั้งยังเป็นวิถีชุมชนที่สืบสานกันมาช้านาน สำหรับพืชผักที่ทางหมู่บ้านฯ จะเริ่มต้นทำการปลูกในระบบอินทรีย์ เพื่อให้ได้รับการรับรอง คือ ผักกูด และผักเหมียง ซึ่งเป็นผักพื้นเมืองที่บริโภคกันอย่างกว้างขวางในภาคใต้ รวมถึงยังมีพืชผัก สมุนไพร ผลไม้ อีกหลายชนิด ที่เราจะนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในทุกขั้นตอน เพื่อให้ผลผลิตมีความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งชุมชนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำให้ประชาชนได้รู้จักกับหมู่บ้านฯ ในแนวทางเกษตรอินทรีย์ แล้วจะเป็นศูนย์เรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว และเป็นตลาดนัดชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเอง และพอมีพอกินอย่างยั่งยืน เป็นวิถีชีวิตที่กล่าวได้เต็มปากว่าเดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องขอขอบคุณ คลินิกเทคโนโลยี ม.ราชภัฏภูเก็ต ที่ให้โอกาสชุมชนบ้านฉลอง ได้เดินตามรอยวิถีเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสของในหลวง” นับเป็นโอกาสดีที่คนเบื้องหลังอีกไม่น้อยในท้องถิ่นทะเลอันดามัน จะได้ออกมาสู่เบื้องหน้า เพื่อให้สังคมได้รู้จักกับแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ ผ่านการประกอบอาชีพด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ ที่หาได้ยากในจังหวัดอินเตอร์อย่างเกาะภูเก็ต จากแนวความคิดดั้งเดิมที่ว่า ปลูกเอง ทานเอง ในหมู่บ้านก็เพียงพอแล้ว คงใช้ไม่ได้กับยุคสมัยที่ค่าครองชีพสูงลิบลิ่ว ส่งผลให้ชาวบ้านชักหน้าไม่ถึงหลัง คลินิกเทคโนโลยี ม.ราชภัฏภูเก็ต ใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ จับมือกับชุมชน สร้างสรรค์วิถีอินทรีย์ที่แท้จริงและยั่งยืน ซึ่งต้องผ่านการรับรอง (Certificate) เป็นใบเบิกทางให้ถนนทุกสายที่ต้องการจะเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์มุ่งตรงสู่ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติฯ (วิถีแห่งอินทรีย์) หมู่ 6 บ้านฉลอง นำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในการสร้างความสุขให้กับชาวบ้าน จากความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยกระดับเป็นหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หมู่บ้านวิถีอินทรีย์สร้างต้นแบบให้กับหมู่บ้านแห่งอื่นๆ เดินตามรอยพ่อหลวงต่อไป