ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น "ภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 เชื่อมโลกและจักรวาล" ช่วงเวลานี้การก่อสร้าง “พระเมรุมาศ” สถาปัตยกรรมชั่วคราวบริเวณท้องสนามหลวง เพื่อใช้ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวง รัชกาลที่ 9) อยู่ระหว่างประดับตกแต่งลายศิลปกรรม และงานภูมิสถาปัตยกรรมรายรอบพระเมรุมาศ โดยในมุมของงานภูมิสถาปัตยกรรมครั้งนี้ มีการนำเรื่องราวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริบางส่วนมาจัดวางพื้นที่บริเวณด้านหน้าทางเข้ามณฑลพิธี สร้างแปลงนาข้าว คันนาเลข ๙ ดินสีทอง นำต้นไม้ อาทิ ต้นมะม่วงมหาชนก ต้นยางนา หญ้าแฝกมาปลูก บ่อน้ำแก้มลิง ฝายน้ำล้น เพื่อสื่อถึงอัจฉริยภาพของพระองค์ในโครงการพระราชดำรินั้นๆ ขณะเดียวกันภูมิสถาปัตยกรรมยังต้องสอดรับกับพระเมรุมาศ อันเป็นหัวใจของการสร้างขึ้นตามความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาล คติไตรภูมิ มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยเขาสัตบริภัณฑ์ ดังนั้นแล้ว งานภูมิสถาปัตยกรรมจึงต้องสัมพันธ์กันในส่วนนี้ หนึ่งในคณะผู้ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้มีประสบการณ์ร่วมออกแบบป่าหิมพานต์รอบฐานพระเมรุมาศเมื่อครั้งพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) และสองพระเมรุมาศที่ผ่านมา กระทั่งมาถึงพระเมรุมาศ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ปูพื้นงานภูมิสถาปัตยกรรมอย่างย่อๆ ว่า เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของสถาปัตยกรรม ว่าด้วยสภาพแวดล้อม การออกแบบและการจัดการพื้นที่ว่างที่อยู่นอกตัวอาคาร ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสภาพแวดล้อม สะท้อนออกมาในรูปของการวางผัง การเลือกชัยภูมิที่ตั้ง และการจัดการที่ว่างและพื้นที่ เป็นต้น งานภูมิสถาปัตยกรรมจะเป็นการกำหนดการใช้สอยพื้นที่ เพื่อการประโยชน์ที่เหมาะสม ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่และสภาพแวดล้อม ที่สื่อถึงวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ สำหรับงานภูมิสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ส่วนใหญ่จะสื่อถึงนัยยะความหมายตามความเชื่อในรูปของการวางผัง เช่น งานวางผังศาสนสถาน ตำแหน่งที่ตั้ง อาคาร และที่ว่าง โดยการสื่อถึงความถึงภูมิจักรวาล เป็นการออกแบบที่นำเอาปรัชญา ความเชื่อ ที่มีความหมายมาตีความลงในผังการสร้าง ‘พรธรรม’ กล่าวงานภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศว่า เป็นงานออกแบบสภาพแวดล้อม การวางตำแหน่งที่ตั้งของอาคารหรือพื้นที่ที่อยู่รอบๆ เป็นเรื่องของการใช้สอย เช่น การสัญจรคนจะเข้าจะออกอย่างไร ใช้งานได้อย่างเหมาะสม สะดวกสบาย ไม่เป็นอันตราย ขนาดจะเพียงพอไหม รับน้ำหนักได้เท่าไหร่ ระยะมองอย่างไรถึงจะสวย นี้คือเกณฑ์ในการออกแบบ แต่สิ่งที่แฝงอยู่ในการวางผังนั้นคือปรัชญา ที่สื่อถึงเรื่องภูมิจักรวาล และเขาพระสุเมรุ สำหรับการวางผังของพระเมรุมาศครั้งนี้ เรามองถึงที่ตั้งองค์พระเมรุมาศที่สัมพันธ์กับศาสนสถานที่สำคัญในพระบรมมหาราชวัง และของเกาะรัตนโกสินทร์ โดยมองถึงแกนที่เชื่อมโยงมาจากรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ทำให้มีความเชื่อมโยงกับเมืองอีกด้วย นี้เป็นศาสตร์ของภูมิสถาปัตยกรรม-เมือง ที่เอามาช่วยในการออกแบบ เลือกที่ตั้ง พิจารณาว่าสิ่งนี้ควรอยู่ตรงไหนจึงจะเหมาะสม สภาพแวดล้อมควรจะเป็นอย่างไร ที่สามารถจะสื่อถึงงานภูมิสถาปัตยกรรมกลมกลืนกันทั้งหมด ขณะเดียวกัน งานภูมิสถาปัตยกรรมยังเกี่ยวข้องกับพระเมรุมาศ ในส่วนของพื้นที่ว่างที่เลยออกมาจากตัวอาคารสถาปัตยกรรม เป็นงานต่อเนื่อง อย่างอาคารประธานเสมือนเขาพระสุเมรุ ฉะนั้น งานภูมิสถาปัตยกรรมที่มาต่อยอด จะต้องอธิบายให้เชื่อว่านี้คือเขาพระสุเมรุ รอบฐานพระเมรุมาศออกแบบให้เป็นป่าหิมพานต์ มีสระอโนดาต สัตว์หิมพานต์ ส่วนพื้นที่ลานคอนกรีตพระเมรุมาศทั้ง 4 ทิศ เสมือนเป็นแผ่นน้ำสีทันดร และเขาสัตตะบริภัณฑ์ ล้อมรอบพระเมรุมาศ แทนที่เราจะเห็นเขาพระสุเมรุโดดเดียว ตรงกลางอย่างเดียว แต่ตอนนี้เราเห็นทั้งจักรวาล เมื่อมองจากที่สูงลงมา จะเห็นเขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์ ทวีปทั้งสี่ บนลวดลายการปูพื้น เป็นการสร้างให้เห็นตามคติไตรภูมิ ในเชิงสัญลักษณ์ของการตีความภูมิจักรวาล ที่สมบูรณ์โดยใช้งานภูมิสถาปัตยกรรมเข้ามาช่วย ในส่วนของภูมิทัศน์ด้านหน้าทางเข้ามณฑลพิธี ‘พรธรรม’ กล่าวว่า งานภูมิทัศน์ มีความหมายที่แสดงถึงโครงการพระราชดำริต่างๆ โดยย่อ ที่ใช้ศาสตร์และศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องในการจัดการออกแบบพื้นที่ อย่างที่เห็นด้านหน้าเป็นแปลงนาข้าว หญ้าแฝก ฝายน้ำล้น ต้นยางนา ต้นมะม่วงมหาชนก คันนาใส่สัญลักษณ์ของเลข ๙ เป็นภูมิสถาปัตยกรรม เป็นการตีความถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 จากเรื่องพระราชกรณียกิจ ทรงงานต่างๆ มองแล้วนึกถึงพระองค์ท่าน เป็นการออกแบบ โดยความหมาย อีกแนวความคิด หนึ่งในขณะที่ส่วนของพระเมรุมาศและรอบพระเมรุมาศเป็นการตีความพระองค์ที่ท่านเป็นเทวดากลับสู่สวรรค์ เป็นภูมิจักรวาลที่ท่านจะกลับไป แต่ทั้ง 2 ส่วนนี้เป็นงานภูมิสถาปัตยกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘พรธรรม’ ภูมิสถาปนิก กล่าวงานภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศในครั้งนี้ “ถือว่าเข้ามามีบทบาทเป็นการช่วยเสริมอธิบายที่สื่อความหมายของความเป็นเขาพระสุเมรุ ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิจักรวาล ให้มีความชัดเจนขึ้นในส่วนพื้นที่รอบพระเมรุ ในขณะที่พื้นที่ด้านหน้าทางทิศเหนือเป็นโอกาสที่ทุกคนจะได้เรียนรู้ ถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน จากแปลงนาข้าว ฯลฯ ซึ่งหลังงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9 นี้ สามารถใช่เป็นสถานที่ในการเรียนรู้ถึงโครงการพระราชดำริ เช่น เป็นพื้นที่ใช้สาธิตเก็บเกี่ยวข้าว หรือทำขวัญข้าว เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าชาวนา เกษตรกร มีความสำคัญอย่างไร ที่สำคัญนึกถึงพระองค์ท่าน” ภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 เชื่อมโลกและจักรวาล