สทป.ผนึก ม.แม่โจ้ สานต่อค่ายวิทย์จรวดประดิษฐ์ ปีที่ 6 ปั้นนักวิจัยรุ่นใหม่สร้างความมั่นคงและยั่งยืนในทุกมิติ ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นและได้รับการยอมรับจากทั่วโลก แต่การเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เฉพาะในห้องเรียนอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญในด้านการเรียนการสอนของเยาวชนไทย สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงร่วมมือกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ครั้งที่ 6 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ พลเอก ชนินทร์ จันทรโชติ ที่ปรึกษาสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวในพิธีเปิด ว่า การพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในทุกมิติของประเทศการสร้างองค์ความรู้จำเป็นต้องเริ่มต้นวางรากฐานตั้งแต่ระดับเยาวชนให้มีความรู้ ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์อย่างเพียงพอที่จะก้าวทันวิทยาการใหม่ๆ ปลูกฝังให้เห็นความสำคัญ และสร้างเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ครั้งที่ 6 จึงถือเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาเยาวชนให้พร้อมกับการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของประเทศต่อไปในอนาคต กิจกรรมในครั้งนี้นับว่าเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์และโอกาสทางการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เยาวชน ให้เป็นคนเก่ง และที่สำคัญที่สุดคือ การเป็นบุคลากรที่ดีสู่สังคม พลเอก สมพงศ์ มุกดาสกุล ผอ.สทป. กล่าวว่า สทป. จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ตั้งแต่ปี 2555 ต่อเนื่องถึงปัจจุบันเป็นเป็นปีที่ 6 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เยาวชน โดยเฉพาะความรู้ด้านจรวด ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่บุคลากรของ สทป. มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อให้ความรู้ดังกล่าวได้เผยแพร่สู่สังคมให้เป็นประโยชน์และเกิดการพัฒนากว้างขึ้น สทป.มุ่งหวังให้เยาวชนเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ที่ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา สามารถสร้างความรู้ความสนใจด้านจรวดในหมู่เยาวชนได้เป็นจำนวนมาก เพื่อตอบสนองเป้าหมายการส่งเสริมให้เกิดนักวิจัยรุ่นใหม่ และการพัฒนาจรวดประดิษฐ์เป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานที่เป็นประโยชน์กว้างขึ้น สำหรับปี 2560 ค่ายวิทยาศาตร์จรวดประดิษฐ์จะจัดกิจกรรมขึ้นในส่วนภูมิภาคเป็นครั้งแรก เริ่มจากภาคเหนือ ซึ่งเป็นการดำเนินการในกรอบของ MOA บันทึกข้อตกลงจัดค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยรูปแบบเป็นความร่วมมือกันระหว่างสองหน่วยงาน ซึ่งถือเป็นการตอบสนองยุทธศาสตร์ของ สทป. ในการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น พล.อ.ต. เจษฎา คีรีรัฐนิคม รองผอ.สทป. กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ว่าเพื่อตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม และ เพื่อส่งเสริมความรู้และความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจรวดแก่เยาวชน ซึ่งเป็นรากฐานในการสร้างนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในอนาคตของ สทป.รุ่นใหม่สู่สังคม และตอบสนองพันธกิจของ สทป. ในการประสานความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานภายนอก ทั้งสถาบันการศึกษา และแผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชน สำหรับกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ครั้งนี้ได้เปลี่ยนจากดินขับเชื้อเพลิงแข็งชนิดคอมโพสิตเป็นดินขับเชื้อเพลิงแข็งที่ใช้น้ำตาลเป็นเชื้อเพลิง เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายภาคเหนือ โดยการจัดครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนในรูปแบบของความร่วมมือด้านทรัพยากรบุคคลและการใช้วัสดุอุปกรณ์ร่วมกัน เป็นการมุ่งหวังที่จะสร้างเสริมเยาวชน ด้วยความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทั้งด้านจรวด เป้าหมายเพื่อพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีจรวด ก่อเกิดนักคิดค้นและประดิษฐ์ผลงานใหม่เพื่อประโยชน์ต่อสังคม สร้างศักยภาพความสามารถในการแข่งขันของเยาวชนและของประเทศ ให้มีโอกาสได้เสริมความรู้ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี เพื่อนำไปพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม รองศาสตราจารย์ศิรินทร์ญา ภักดี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. ในการร่วมมือกันจัดค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ครั้งที่ 6 ประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 30 ส.ค. – 2 ก.ย. 2560 ในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นการร่วมงานกันอย่างเป็นทางการของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อเสริมสร้างความรู้เชิงปฏิบัติการจรวดประดิษฐ์ และเสริมสร้างให้เยาวชนสนใจค้นคว้าวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ให้เพิ่มมากขึ้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐปน ชื่นบาล รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์กล่าวปิดท้ายว่า นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 - 6 จาก 11 โรงเรียนทั่วประเทศ ที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 56 คน กิจกรรมค่ายประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้เทคโนโลยีจรวด ความรู้ฟิสิกส์และเคมีที่เกี่ยวข้องกับจรวด หลักการออกแบบและสร้างจรวดประดิษฐ์ และการลงมือปฏิบัติการสร้างจรวดประดิษฐ์ โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ ละ 5 คน ร่วมกันประดิษฐ์จรวดกลุ่มละ 2 ชุดเส้นผ่านศูนย์การขนาด 3 นิ้ว และได้นำมายิงทดสอบความสูงในวันนี้ ซึ่งผลการยิงทดสอบจรวดประดิษฐ์ของเยาวชนประสบผลสำเร็จอย่างดีตามเป้าหมาย และได้ผลรางวัลที่จรวดสามารถทำความสูงที่สุด จำนวน 3 รางวัล นอกจากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจรวดที่เยาวชนสามารถนำไปค้นคว้าต่อยอดความรู้ในอนาคต เยาวชนยังได้ร่วมกิจกรรมสันทนาการกลุ่ม การอยู่ร่วมกัน การทำงานเป็นกลุ่ม เป็นประสบการณ์ที่จะ สร้างเจตคติที่ดีในการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในสังคม กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ในครั้งนี้ได้สำเร็จเรียบร้อยและบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้