หลังการวิเคราะห์ผิดพลาด! ลดชำนาญการพิเศษ ด้าน ก.ค.ศ.ยันดูแลบุคลากรฯ ไม่ให้เสียสิทธิ ตามที่บุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) ได้ทำหนังสือถึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขอทบทวนกรอบอัตรากำลังของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเกี่ยวเนื่องมาจากการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในส่วนภูมิภาค มีการปรับโครงสร้างการบริหารในส่วนภูมิภาค จัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค(ศธภ.) และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทำให้การดำเนินงานตามภารกิจขับเคลื่อนนโยบาย ต้องมีการบูรณาการภารกิจของหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การศึกษา เชื่อมโยงทุกภาคส่วนของ ศธ.ทุกระดับ และมีการเกลี่ยอัตรากำลังจากเขตพื้นที่ฯ ไปยัง ศธจ. และขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำลังดำเนินการพิจารณาปรับโครงสร้างกรอบอัตรากำลังของเขตพื้นที่ฯ โดยกรอบอัตรากำลังของเขตพื้นที่ฯ ที่คณะทำงานเสนอมานั้น มีความคลาดเคลื่อนจากภารกิจของเขตพื้นที่ฯ ที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีภาระงานมากกว่าที่คณะทำงานเสนอ เช่น ภาระงานของกลุ่มบริหารการเงินและสินทรัพย์ ทำหน้าที่เบิกจ่ายเงิน ดูแลจัดหาวัสดุอุปกรณ์ให้กับหน่วยงาน และเบิกจ่ายเงินให้กับโรงเรียนเอกชน ตามภาระงานของกลุ่มส่งเสริมการศึกษาเอกชน แต่คณะทำงานวิเคราะห์ภาระงานว่าไม่มีงานใด ของกลุ่มบริหารการเงินและสินทรัพย์ที่แยกไปจากเขตพื้นที่ฯ ให้กับ ศธจ. ทั้งๆ ที่งานเบิกจ่ายเงินของโรงเรียนเอกชน ต้องตามกลุ่มส่งเสริมเอกชน ไปอยู่ที่ ศธจ.ด้วย จึงถือเป็นการวิเคราะห์ที่ผิดพลาด นอกจากนี้ ยังตัดความก้าวหน้าทางราชการของบุคลากรทางการศึกษาตาม มาตรา 38 ค (2) คือ กรอบอัตรากำลังที่ใช้อยู่ปัจจุบัน (ปี 2556) กำหนดให้มีตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษ นอกเหนือจากตำแหน่ง ผอ.กลุ่ม/หน่วย อีกกลุ่ม/หน่วย ละ 1 ตำแหน่ง แต่การจัดกรอบอัตรากำลังที่ดำเนินการในปัจจุบัน ปรับลดระดับชำนาญการพิเศษลงเป็นส่วนใหญ่ จนบางกลุ่ม/หน่วย เหลือเพียง ผอ.กลุ่ม/หน่วย เพียงตำแหน่งเดียว ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการลดจำนวนอัตรากำลังของแต่ละกลุ่มโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า เดิมการกำหนดอำนาจหน้าที่ของเขตพื้นที่ฯ ให้เป็นไปตามกำหนดของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) แต่วันนี้สิ่งที่ปรากฏอยู่ในอำนาจหน้าที่กับคำสั่งของคสช.ฉบับที่ 19/2560 ซึ่งมีการโอนงานการศึกษาเอกชน กับงานการบริหารงานบุคคลบางส่วนไป แต่เท่าที่ตนได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ว่าเนื้องานที่รับผิดชอบมีมากกว่าที่ปรากฏอยู่ในเอกสาร
ดังนั้น จึงให้ใช้กรอบอัตรากำลังดังกล่าวไปก่อนในระยะ 1 ปี จากนั้นจะดูว่าภาระงานที่ไม่ได้ปรากฏในเอกสารที่แท้จริงมีอะไรบ้าง แล้วจึงกำหนดกรอบอัตรากำลังที่เหมาะสมใหม่อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การเกลี่ยอัตรากำลังครั้งนี้ แม้จะมีตำแหน่งชำนาญการพิเศษลดลง แต่ก็จะไม่ทำให้ข้าราชการ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่แล้วต้องเสียสิทธิ หรือความก้าวหน้าที่พึงจะมี เพราะ ก.ค.ศ.ต้อมีการงยกเว้นให้ แต่คนที่เข้ามาใหม่ในช่วงหนึ่งปีนี้ ก็ต้องทำให้ทุกคนไม่เสียสิทธิเช่นกัน