จากกรณีที่ นายโสภณ ชัยวัฒนกุลวานิช ผอ.สถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้เผยแพร่งานวิจัยเรื่อง แนวทางการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ที่ระบุว่า คนพิการประมาณ 1.5 ล้านคน ไม่ได้เข้ารับบริการทางการศึกษา มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการหลายด้าน ล่าสุดวันที่ 11 ก.ย.60 นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ศธ.มีสถานศึกษาหรือศูนย์การศึกษาที่ให้บริการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีทั้งสถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) ศูนย์การศึกษาพิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) พร้อมให้บริการจัดการเรียนรู้แก่ประชาชน ทุกประเภทซึ่งรวมถึงผู้พิการด้วย โดยมีช่องทางการให้บริการหลายรูปแบบ ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ในการดูแลผู้พิการนั้นจะต้องมีการคัดกรองประเภทความพิการ โดยในส่วนของ กศน. ครู 1 คน ดูแลรับผิดชอบผู้พิการไม่เกิน 10 คน แต่เนื่องจากผู้พิการมีความพิการหลายประเภท ทำให้การจัดการศึกษามีข้อจำกัด ไม่สอดคล้องกับความพิการครบทุกประเภท โดยเฉพาะการจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ดังนั้นขณะนี้ ศธ.จึงกำลังดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องตรงกับความพิการแต่ละประเภท เพราะที่ผ่านมาการศึกษาสำหรับผู้พิการเน้นการศึกษา ให้มีความรู้ด้านการศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ และทักษะชีวิต การช่วยเหลือตนเองไม่เป็นภาระต่อครอบครัว ชุมชนและสังคม "บุคลากรที่ไม่จบการศึกษาสำหรับคนพิการมาโดยตรง ไม่สามารถดูแลผู้พิการได้ทุกประเภท แต่หากกลุ่มเป้าหมายมีความประสงค์จะเรียน สถานศึกษาก็สามารถจัดหาวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถมาให้ความรู้ได้ตามความต้องการ นอกจากนี้ ศธ.ยังมีการพัฒนารูปแบบสื่อสำหรับผู้พิการที่หลากหลายให้สามารถเรียนรู้ตามศักยภาพและความสนใจด้วย" นายการุณ กล่าว