ปัญหาการจราจรคับคั่งรถติดในช่วงเวลาเร่งด่วนล้วนเป็นปัญหาของเมืองใหญ่หรือมหานครทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย ด้วยจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีกว่า 11 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่อาศัย และการเดินทางสัญจรของคนกรุงเกิดความแออัด ประเด็นสำคัญในการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ แผนงานพัฒนา “โครงการรถไฟฟ้าในเมือง” ล่าช้ากว่ากำหนด โดยก่อนหน้าที่รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเข้ามาบริหารประเทศ รถไฟฟ้าในเมืองไทยเพิ่งเปิดใช้งานได้แค่ 2 สายเท่านั้น คือ รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สาย 1 หรือ “รถไฟฟ้าบีทีเอส” และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือ “รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที” พลันเมื่อรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ เข้ามาบริหารประเทศจึงได้ผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหาจราจรอย่างเร่งด่วนทั้งระบบ พร้อมกับกำหนดให้อยู่ในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 โดยแผนยุทธศาสตร์ระยะ 8 ปี มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระบบรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้ทั่วถึงกัน ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารของรัฐบาลปัจจุบัน การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรมเมื่อเทียบกับรัฐบาลที่ผ่านมา บางสายสามารถเปิดให้บริการได้ก่อนกำหนดหลายเดือน ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ โดยเริ่มเปิดไปแล้วเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 เร็วกว่าแผนเดิมที่กำหนดเปิดในปลายปี 2559 และกลางเดือนสิงหาคม 2560 ได้เปิดให้เชื่อมต่อระหว่างสถานีเตาปูน-บางซื่อ เป็นการเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง คือ สายสีน้ำเงินและสีม่วง สร้างความสะดวกให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเปิดให้บริการเดินรถส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สำโรง ซึ่งเดิมสิ้นสุดแค่สถานีแบริ่ง ไปถึงย่านสำโรง ให้ผู้อยู่อาศัยในชานเมืองและจังหวัดสมุทรปราการ เดินทางได้ง่ายและช่วยบรรเทาปัญหาจราจรบนถนนสุขุมวิทได้เป็นอย่างดี ในส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างเร่งรัดการก่อสร้างเพื่อให้เปิดได้รวดเร็วขึ้น ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากฝั่งธนกับฝั่งพระนครเข้าด้วยกัน และในเส้นทางนี้ยังมีการสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้ารอดแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแห่งแรกของประเทศอีกด้วย โดยปัจจุบันการก่อสร้างใกล้เสร็จแล้วทำได้กว่า 93% และจะเปิดให้บริการได้ปี 2562 เช่นเดียวกับ รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่อยู่ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ และจังหวัดปทุมธานี ซึ่งจะเปิดใช้ได้ในปี 2563 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ยังได้อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าขึ้นอีกหลายเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต ระยะทาง 18.7 กม. เชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพฯ ตอนเหนือ และปทุมธานี เข้าสู่เมืองตามถนนพหลโยธิน และบรรจบเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสถานีบีทีเอส ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 นอกจากนี้ยังมีรถไฟฟ้าอีก 3 โครงการใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะทาง 22.75 กิโลเมตร วงเงิน 79,221 ล้านบาท ซึ่งวิ่งผ่านพื้นที่สำคัญทั้งถนนพระราม 9 รามคำแหง ไปจนถึงมีนบุรี เพิ่มความสะดวกให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เข้าสู่เมืองได้ง่ายขึ้น ซึ่งได้เริ่มตอกเสาเข็มได้ในเดือนกรกฎาคม 2560 และจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ขณะที่อีก 2 โครงการ สดๆร้อนๆ ที่เพิ่งลงนามสัญญาก่อสร้างไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 36 กิโลเมตร เชื่อมต่อจากจังหวัดนนทบุรีและไปสิ้นสุดที่ย่านมีนบุรี และ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร ที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาจราจรถนนลาดพร้าว และถนนศรีนครินทร์ โดยทั้งสองโครงการคาดว่าจะเริ่มตอกเสาเข็มได้ในปี 2560 และจะเปิดให้บริการใกล้เคียงกันในปี 2563 รัฐบาลยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ที่อยู่ระหว่างกำลังศึกษาจัดทำแผนการก่อสร้างภายใน 1-2 ปีนี้อีกหลายเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 23.6 กิโลเมตร และโครงการส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรม ทั้งสองโครงการนี้ รัฐบาลได้ผลักดันให้เร่งรัดการลงทุนแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี ฟาสต์แทร็ก) เพื่อร่นเวลาจาก 25 เดือน เหลือแค่ 9 เดือน ส่งผลให้ทั้งสองโครงการจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2561 นอกจากนี้ยังมีโครงการ รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และ สายสีแดงเข้ม บางซื่อหัวลำโพง รวมระยะทาง 25.9 กม. ที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ภายในปีนี้ เช่นเดียวกันกับโครงการ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินดอนเมือง ที่จะเริ่มประกวดราคาหาผู้รับเหมาได้ในปี 2560 และ รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน –ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี อนุมัติโครงการได้ภายในปี 60 ขณะที่ รถไฟฟ้าสีแดงเข้ม รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ที่จะมีการสร้างเพิ่มสถานีอีก 5 สถานี จะเริ่มเปิดให้มีการประมูลได้ในปี 2561 รวมถึงโครงการที่อยู่ระหว่างจัดทำการศึกษาอีกหลายเส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 วงเงิน21,197 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสมุทรปราการ-บางปู วงเงิน 12,146 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงคูคต-ลำลูกกา วงเงิน 9,803 ล้านบาท ที่จะเริ่มเปิดประมูลได้ในภายในปี 2561 นายเอกชัย สุมาลี นักวิชาการด้านระบบคมนาคม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สนับสนุนภาครัฐที่ขยายโครงข่ายการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้า เพราะจะช่วยสร้างความสะดวกและลดเวลาการเดินทางให้กับประชาชน และเห็นควรเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนด้วยการบูรณาการร่วมกับ ขสมก. วางระบบขนส่งโดยรอบสถานีไปยังชุมชนต่าง ๆ และในระยะยาวรัฐต้องออกแบบเมืองให้สอดคล้องกับรถไฟฟ้า และนำระบบขนส่งอื่นๆ เข้ามาสนับสนุน โดยระยะทางที่เหมาะสมต่อการเดินเท้าเพื่อเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่น ๆ ไม่ควรเกิน 500 เมตร นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ได้ขยายโครงข่ายระบบรถไฟฟ้ามีความก้าวหน้ามาก ทั้งนี้รถไฟฟ้าในเมืองนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้วยังเป็นการกระจายความเจริญออกไปสู่นอกเมือง ไม่ให้ต้องกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องวางแผนหรือจัดผังเมืองตามเส้นทางรถไฟฟ้า โดยเฉพาะปลายทางที่อยู่โดยรอบเมืองควบคู่กันไปด้วย รวมทั้งรัฐควรส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง จากรถยนต์ส่วนตัวให้หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะแทน โดยอาจใช้เรื่องราคามาเป็นแรงจูงใจในช่วงเริ่มต้น และถ้าระบบรถไฟฟ้าเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายสำเร็จก็จะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในระยะยาวเหมือนเมืองขนาดใหญ่ที่มีความเจริญแล้ว ด้านนายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า การผลักดันก่อสร้างรถไฟฟ้าให้เกิดขึ้นหลายๆสายของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว และผลดีนอกจากทำให้การเดินทางไปมาหาสู่ของประชาชนได้สะดวกขึ้นแล้ว ในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รับผลโดยตรง ช่วยให้การขยายโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ เกิดขึ้นตามทำให้เกิดการลงทุนใหม่ ๆ เกิดการจ้างงาน สนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการขยายระบบรถไฟฟ้าไปยังชานเมืองยังกระจายความเจริญในการอยู่อาศัยไปสู่พื้นที่โดยรอบกรุงเทพฯ ได้ดีขึ้น ลดปัญหาความแออัดการกระจุกตัวในเมืองได้ เหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์พัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้งระบบรวม 299 กิโลเมตร จะช่วยลดปัญหาการจราจรให้กับคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้อย่างเห็นเป็นรูปธรรม รวมทั้งทำให้เกิดการกระจายตัวของที่อยู่อาศัยและส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน