บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ รับรางวัลจากโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว หรือโครงการกรีน อินดัสทรี (Green Industry) ประจำปี 2560 โดยสถานประกอบการซีพีเอฟ 5 แห่ง เข้ารับรางวัล สถานประกอบการผ่านการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 (GI4)และระดับที่ 5 (GI5) ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า สถานประกอบการของซีพีเอฟ 5 แห่ง ได้รับรางวัลจากโครงการกรีน อินดัสทรี (Green Industry : GI) ประจำปี 2560 ซึ่งจัดโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผลจากการที่บริษัทฯมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ภายใต้แผนขับเคลื่อนองค์กรสู่เส้นทางธุรกิจสีเขียว และยุทธศาสตร์ความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ใน 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน “อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่” ที่เน้นเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ สถานประกอบการของซีพีเอฟที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ประกอบด้วย โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ มีนบุรี ผ่านการรับรองเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 5 ส่วนอีก 4 แห่ง คือ โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ สระบุรี ,โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ นครราชสีมา ,โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ลำพูน และโรงงานอาหารแปรรูป มีนบุรี 2 ผ่านการรับรองเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 สำหรับระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) คือการที่ทุกคนในองค์กรให้ความร่วมมือร่วมใจดำเนินงาน อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในทุกด้านของการประกอบกิจการ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร และระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) คือ การแสดงถึงการขยายเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทานสีเขียว โดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเข้าสู่กระบวนการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม เริ่มโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ โครงการกรีน อินดัสทรี (Green Industry : GI) ตั้งแต่ปี 2554 เพื่อสร้างความตระหนักและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยในปี 2560 มีสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 จำนวน 189 โรง และระดับที่ 5 จำนวน 23 โรง รวม 212 โรง และตั้งแต่ปี 2554-2560 มีสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว 31,324 ราย แบ่งเป็นระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) 19,312 ราย ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) 6,382 ราย ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System)5,309 ราย ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) 285 ราย และระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) 36 ราย