หมายเหตุ : เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ครูยุคใหม่ สร้างเด็กไทย 4.0" ในการประชุมทางวิชาการของคุรุสภา ประจำปี 2560 โดยมีประเด็นน่าสนใจที่พูดถึงการผลิตครู ซึ่งเป็นต้นน้ำสำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ผู้เรียนให้พร้อมรับมือกับโลกอนาคต "ครูและบุคลากรทางการศึกษา" เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ เพื่อคุณภาพของผู้เรียน ที่จะเป็น "คนคุณภาพ" และเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต กระทรวงศึกษาธิการ มีความเชื่อว่าการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดผลกระทบต่อผู้เรียนที่ตรงที่สุด ต้องเริ่มต้นที่ครู จึงพยายามสนับสนุน ส่งเสริมให้ครูได้มีอิสระ และโอกาสที่จะพัฒนาตนเอง เพื่อให้มีความพร้อมที่จะพัฒนาลูกศิษย์ต่อไป" "อย่าถามหาคุณภาพการศึกษา ตราบใดที่คุณภาพครูยังไม่มีคุณภาพเพียงพอ" เป็นคำกล่าวของ "เซอร์ไมเคิล บาร์เบอร์" นักการศึกษาผู้โด่งดัง (ที่ปรึกษาของรัฐบาลอังกฤษในอดีต) ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ต้องยอมรับ การปฏิรูประบบการผลิตครู การพัฒนาครู เป็นปัจจัยที่จะสร้างความมั่นใจในเรื่องการสร้างครูที่มีคุณภาพเพื่ออนาคต การผลิตครู จำเป็นต้องพิถีพิถันและคัดสรรอย่างเข้มข้น สถาบันที่จะผลิตต้องมีความเชี่ยวชาญ มิใช่ทุกสถาบันจะผลิตได้เหมือนกัน บางสถาบัน อาจจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง บางสถาบันอาจจะต้องพัฒนาครูประจำการในพื้นที่ เช่น โครงการพัฒนาครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (คพท.) หลักการสำคัญ คือ การคัดเลือกคนดี คนเก่ง และเป็นคนในพื้นที่ให้เข้ามาเป็นครู แล้วกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง การส่งเสริมให้คนที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้เป็นครูในพื้นที่นั้น เพราะอย่างน้อยคนที่มาจากท้องถิ่นนั้น ๆ ได้ทำงานในถิ่นตัวเอง ก็จะเกิดความรักความผูกพันกับท้องถิ่นของตนเอง ความเข้าใจในบริบทของพื้นที่ที่ตนเองเติบโตมา ก็จะรู้รายละเอียดเงื่อนไขมากกว่าคนอื่น นพ.ธีระเกียรติ กล่าวและว่า ปัญหาของกระบวนการผลิตครู ที่สำคัญคือ การสร้างจิตวิญญาณความเป็นครู สถาบันผลิตครู ก็ต้องปรับกลยุทธ์การผลิต เพราะกิจกรรมในชั้นเรียน ในมหาวิทยาลัยไม่สามารถสร้างจิตวิญญาณความเป็นครูได้ แต่ความเป็นครูสร้างได้จากการสร้างโอกาสและประสบการณ์ ให้แก่นิสิต นักศึกษาครู ลงไปทำงานจริง ปฏิบัติงานจริงในโรงเรียน ซึ่งอาจจะต้องพานักศึกษาที่เรียนครูเข้าไปเรียนรู้สภาพจริงในโรงเรียนตั้งแต่เริ่มต้นเรียนวิชาครู เสียด้วยซ้ำ ตลอดจนต้องเตรียมครูพี่เลี้ยงในโรงเรียนฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูให้มีความรู้ ความเข้าใจการเป็นครูพี่เลี้ยงที่ดี ต้องพัฒนาระบบการนิเทศของอาจารย์นิเทศก์ ที่เน้นกระบวนการสะท้อนคิด (Reflection) และต้องมีเวลานิเทศมากขึ้น การผลิตครูใหม่ต้องเชื่อมโยงกับการเรียนรู้จริงที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ขณะที่สถาบันผลิตครูก็ต้องพิจารณาทบทวนความเชี่ยวชาญของตนเอง โดยความเชี่ยวชาญของสถาบันจะสะท้อนได้จากผลงาน การที่สถาบันผลิตครูต้องลงไปมีส่วนร่วมทำงานพัฒนาคุณภาพการศึกษากับโรงเรียนในพื้นที่อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ จะเกิดประโยชน์ทั้งแก่โรงเรียนในพื้นที่ และประโยชน์แก่การพัฒนาประสบการณ์ของคณาจารย์ ในสถาบันอุดมศึกษาไปพร้อมกันด้วย "ผมเชื่อว่า หากครูที่ผลิตตามแนวคิด "ครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น" ลงทำงานในพื้นที่ที่เป็นถิ่นกำเนิด ของตนเอง ร่วมกับอาจารย์ของตนเองจากสถาบันผลิตครูในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบแล้ว นั่นหมายความว่า ต่อไปพื้นที่ใดคุณภาพการศึกษามีคุณภาพดี หรือด้อยกว่าพื้นที่อื่น อย่างน้อยก็จะหาผู้รับผิดชอบได้ว่า ใครคือผู้รับผิดชอบที่มีส่วนทำให้คุณภาพการศึกษาดีหรือด้อยคุณภาพ ดังนั้น กระบวนการผลิตครูจึงต้องมีการทบทวนปรับกลยุทธ์กันใหม่เพื่อทำให้ครูรุ่นใหม่ที่ต้องทำหน้าที่สร้างเด็กไทยรุ่นใหม่ต้องมีคุณภาพสูงและเชื่อมั่นได้" รมว.ศึกษาธิการ ยังกล่างถึง แนวนโยบายการพัฒนาครูประจำการ ณ เวลานี้ ได้ใช้แนวคิดการคืนอำนาจการตัดสินใจ ในการพัฒนาตนเองไปให้กับครูและผู้บริหารโรงเรียน ร่วมกันพิจารณาตัดสินใจ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นเพียงหน่วยสนับสนุนให้คนที่ทำงานอยู่หน้างานในระดับพื้นที่ ได้ตัดสินใจกำหนดทิศทาง การแก้ปัญหา กำหนดทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้องและเป็นไปตามบริบทของปัญหาของแต่ละที่ ซึ่งหลักการพัฒนาครูประจำการในลักษณะเช่นนี้ มีการดำเนินการในหลายประเทศ หากการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ต่อเนื่องไปสัก 4-5 ปี จะทำให้ครูและผู้บริหารโรงเรียน มีความเข้มแข็ง และจะเห็นผลในเชิงของการมีอัตลักษณ์ของการพัฒนาของแต่ละโรงเรียนได้ชัดเจน และสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การกระทำในลักษณะเช่นนี้ เป็นการปฏิรูปที่พุ่งเป้าไปที่ครูซึ่งมีคำกล่าวที่กล่าวกันทั่วโลกว่า "ไม่มีวันที่คุณภาพการศึกษา จะดีไปกว่าคุณภาพของครูไปได้" และนั้นเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่ง ของการยกระดับการพัฒนาครู โดยให้ครูพิจารณาตามความต้องการจำเป็นของตนเองนั้น จะเป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาที่การสอนของครู และการสอนของครู ก็มีเงื่อนไข และส่งเสริมให้ครู เพื่อนครู ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ อาจารย์มหาวิทยาลัย ต้องมาร่วมกันใช้กระบวนการชุมชน ทั้งหมดนี้ถูกดำเนินผ่านการจัดตั้ง "สถาบันคุรุพัฒนา" ให้ทำหน้าที่ในการดูแลหลักสูตรเพื่อการพัฒนาครูทั้งระบบ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และ กศน.ก็ตาม และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การพัฒนาครูประจำการ ที่ได้เห็นครูตื่นตัว ลุกขึ้นมาสมัครเข้ารับการพัฒนาเป็นจำนวนมาก ในระยะเวลาอันสั้นมาก และสะท้อนว่าครู มีความต้องการที่จะพัฒนาตนเอง ครูมีความต้องการโอกาสที่ตนเองเลือกได้ มากกว่าที่จะใช้วิธีการพัฒนาแบบ "One size fit all" ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่สังคมครูสะท้อนภาพความต้องการพัฒนาออกมาได้ชัดเจน "การสร้างเด็กไทยสู่อนาคต หรือประเทศไทย 4.0 ผู้ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นน้ำ นั้นคือ "ครู" เพราะครูจะเป็นผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตัวลูกศิษย์ กระบวนการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ก็มาจากชุมชนของครูและบุคลากรทางการศึกษา จะต้องมาร่วมกันคิด ร่วมกันออกแบบ ร่วมกันวางแผน ร่วมกันปฏิบัติการเพื่อสร้างสมรรถนะที่จำเป็นและสอดคล้องกับโลกอนาคต ที่จะทำให้เด็กไทย ก้าวเดินไปในโลกอนาคตได้อย่างมั่นใจ และพร้อมที่จะรับมือกับอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่ ๆ ได้อย่างสง่างามและประสบความสำเร็จ" นพ.ธีระเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย