วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium Tuberculosis ติดต่อสู่คน โดยสูดอากาศที่มีตัวเชื้อนี้เข้าไป โดยเชื้อชนิดนี้ทนอากาศแห้งได้และแฝงอยู่ในฝุ่นละอองได้นาน วัณโรคมักเป็นที่ปอดมากกว่าที่อื่น เช่น ลำไส้ ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ผิวหนังและเยื่อหุ้มสมอง โดยวัณโรคปอด มักพบในผู้สูงอายุ ผู้มีร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนไม่เพียงพอ ภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งอาจจะเกิดจากตัวโรคที่ผู้ป่วยเป็น เช่น เอดส์ หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน องค์การอนามัยโลก จัดไทยติดอันดับ 1 ใน 14 ประเทศมีปัญหาวัณโรค ซึ่งโรคนี้ยังถือเป็นโรคที่ดื้อยาในหลายขนาน แต่ละปีจะพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 120,000 คน และเสียชีวิตมากกว่า 13,800 คน ที่สำคัญคาดว่า ผู้ป่วยมีอาการดื้อยาหลายขนานมากถึง 4,500 คน ที่เข้ารักษา ปัจจุบันมีวัณโรคดื้อยาหลายขนาน หมายถึง เชื้อวัณโรคที่พัฒนาการดื้อต่อยาอย่างน้อย 2 ชนิด ทั้งนี้ ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ในการตรวจค้นพบผู้ป่วย ทำให้ทราบผลรวดเร็วขึ้นจาก 6-8 สัปดาห์ เป็นภายใน 1 สัปดาห์ ว่าเชื้อวัณโรคดื้อยาหรือไม่ ทำให้แพทย์เลือกใช้ยาและปรับชนิด-ขนาดยารักษาได้เหมาะสม ส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาดียิ่งขึ้น และลดเกิดผลข้างเคียงจากยา นอกจากนี้ ยังลดโอกาสเกิดการดื้อยาของผู้ป่วยบางรายได้ด้วย ทีมแพทย์ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลพระรามเก้ากล่าวว่า การค้นหาผู้ป่วยและรีบรักษาทันทีนั้น ถือว่าเป็นการป้องกันการแพร่กระจายที่ดีที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยวัณโรคดื้อยา ได้แก่ ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา ผู้ต้องขัง ติดเชื้อเอดส์ ผู้ป่วยวัณโรคที่กลับมาเป็นซ้ำ ผู้ป่วยวัณโรคที่ขาดยาหรือรักษาไม่ต่อเนื่อง ผู้ป่วยวัณโรคที่กำลังรักษาและผลรักษาไม่ดีขึ้น ยาในปัจจุบันนับว่ามีประสิทธิภาพแต่ต้องใช้หลายชนิดจึงจะฆ่าเชื้อได้และการรักษาที่ได้ผล จำเป็นที่ผู้ป่วยต้องรับประทานยาสม่ำเสมอและต่อเนื่องอย่างน้อย 6-9 เดือน ในกรณีเป็นวัณโรคดื้อยาอาจต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี การรักษาจะได้ผลดี จะต้องรีบรักษาตั้งแต่เริ่มแรกและต้องดูแลสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารมีโปรตีนสูงและวิตามิน เพื่อช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคได้ ขณะผู้ที่เป็นในระยะที่เริ่มรักษาโดยเฉพาะ 2 สัปดาห์แรกควรหลีกเลี่ยงคลุกคลีใกล้ชิดผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กและคนชรา รวมถึงเดินทางในที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัด หลีกเลี่ยงเดินทางด้วยยานพาหนะผู้อื่นในระยะเวลานาน ตั้งแต่ 8 ชั่วโมงขึ้นไปด้วย เพื่อป้องกันวัณโรคแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้