"พรเพชร"แจง กระบวนการสรรหา กกต.ใช้เวลา 90 วัน หลัง กม.กกต.มีผลบังคับใช้ เมื่อเวลา 15.30 น.วันที่ 13 ก.ย.ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แจ้งถึงการพิจารณา พรป.ว่าด้วย กกตว่า ระยะเวลาการดำเนินการทั้งหมด นับตั้งแต่ กรธ.ส่งมาให้ สนช.พิจารณาเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2560 สนช.พิจารณาแล้วเสร็จภายใน 60 วันตามรัฐธรรมนูญ แต่ มีกระบวนการที่ต้องส่งไปให้ กรธ.และองค์กรอิระที่เกี่ยวข้องคือ กกต.ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ มีการโต้แย้งและตั้งกรรมการร่วม 3 ฝ่ายเมื่อตั้งเสร็จแล้ว ส่งร่าง พรป.มาต้องเข้าสู่การพิจารณา สนช.อีกครั้งหนึ่งแล้วจึงส่งเรื่องไปยังนายกเพื่อพิจารณา แล้วในวันนี้ก็มีการประกาศใช้ พรป. กกต ซึ่งรวมระยะเวลาจนถึงวันนี้ รวม 149 วัน ซึ่งเป็นไปตามกรอบที่ให้สนช.พิจารณาในส่วนของสนช. 60 วัน ไม่รวมการส่งเรื่องให้หน่วยงานอื่นพิจารณา ซึ่งหากนับรวมทั้งหมดจะเกินไปอีก 89 วัน หรือเกือบ 3 เดือน ตนอยากจะอธิบายเรื่องนี้เพราะว่าที่ผ่านมาตนได้ชี้แจงมาโดยตลอด ซึ่งกรอบระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งจะต้องพิจารณาในเงื่อนเวลาเหล่านี้ด้วย โดยที่ไม่รู้ว่ากฎหมายอีก 2 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจะใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ ส่วนจะกระทบกับโรดแม็ปการเลือกตั้งที่วางไว้ในปี 61 หรือไม่ ตนบอกไม่ได้ เพราะเงื่อนไขที่ได้อธิบายไปคงต้องไปคิดกันเอาเอง นายพรเพชร กล่าวต่อว่า ตาม พรบ.กกต.2560 กำหนดให้กกต.ชุดปัจจุบันต้องพ้นจากตำแหน่งในวันรุ่งขึ้นนับแต่พรบ.มีผลบังคับใช้ แต่ยังให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการสรรหากกต.ชุดใหม่ขึ้นมา ส่วนการสรรหากกต.ชุดใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้มี ประธาน และ กกต.จำนวน 7 คน มีที่มา 2 ทาง โดย 5 คนแรกมาจากคณะกรรมการการสรรหาตาม มาตรา 11 ของ พ.ร.บ.กกต. ซึ่งประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน และมีกรรมการ มาจาก ประธานศาลปกครองสูงสุด ตัวแทนศาลรัฐธรรมนูญและตัวแทนองค์กรอิสระที่มิใช่กกต. องค์กรละ 1 คน โดยขณะนี้ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการสรรหาได้ส่งหนังสือไปยังองค์กรดังกล่าวให้มีการเลือกตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่กรรมการสรรหาภายใน 20 วัน ขณะที่ที่มา กกต.อีก 2 คนที่เหลือมาจากการเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยทั้งคณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีเวลาในการสรรหาไม่เกิน 90 วัน หรือ ภายใน 12 ธันวาคมนี้ ก่อนส่งรายชื่อทั้ง 7 คนมายังที่ประชุม สนช.พิจารณาเห็นชอบหรือไม่ต่อไป ภายใน 45 วัน ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายบุคคล หากที่ประชุมสนช.ไม่เห็นชอบกับบุคคลใด ก็ต้องกลับไปเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่เป็นรายบุคคล