ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรี ติดตามการบริหารจัดการน้ำและสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยสถานการณ์น้ำและการดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเฉพาะการบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยทรงเล็งเห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนและในช่วงมรสุมพัดผ่านประเทศในหลายพื้นที่อาจจะได้ผลกระทบ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน เศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้องคมนตรีติดตามการดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน  ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำที่จะเกิดขึ้น ด้วยมีพระราชปณิธานที่จะทรง สืบสาน รักษา ต่อยอดการพัฒนาโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ บังเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลต่อประชาชนและประเทศชาติ ต่อไป  เมื่อวันนี้ 15 กันยายน 2560 ที่ผ่านมานายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พร้อมคณะฯ ติดตามการบริหารจัดการน้ำและสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน พร้อมกับรับฟังสรุปการบริหารจัดการน้ำในปี 2560 ในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ รวมทั้งโครงการสำคัญๆ รายงานผ่านทางไกล (หรือ VDO Conference ) พร้อมกับรับฟังและชมการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center) หรือ SWOC จากผู้แทนกรมชลประทาน ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ชั้น 3 อาคาร 99 ปี กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ สืบเนื่องมาจากการเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศนับตั้งแต่ปี 2523พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงได้พระราชทานแนวทางแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในการบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะต้องรองรับน้ำเพื่อระบายลงสู่ทะเล โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการในการดำเนินงานสนองพระราชดำริให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล ติดตาม และวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ รวมทั้งดำเนินการก่อสร้างคันกั้นน้ำ ทางผันน้ำ ปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ จัดทำคลองลัดและแก้มลิง เพื่อแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำจาก 11 หน่วยงาน และที่ปรึกษาจำนวน 7 คน กำหนดให้มีการประชุมทุกสัปดาห์ หรือมากกว่าในช่วงวิกฤต และประชุมทุกเดือน เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำที่เป็นปัจจุบัน และใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น การกำหนดเปิด ปิดประตูน้ำ การผันน้ำ การเสริมผนังกั้นน้ำ การลดการเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อน รวมทั้งการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมรับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ทันท่วงที         ทั้งยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center) หรือ SWOC  ขึ้น ณ อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ภายในกรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำและศูนย์ประชาสัมพันธ์ โดยเชื่อมโยงกับข้อมูลติดตามคาดการณ์และวิเคราะห์สถานการณ์น้ำอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันเวลา และมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้ภาคประชาชน เกษตรกร อุตสาหกรรม ได้วางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาทั้งในระยะสั้น ระยะยาว ลดความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด   ส่วนประกอบของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก 1. ระบบข้อมูลบริหารจัดการน้ำซึ่งเป็นฐานข้อมูลกลาง ได้แก่ ข้อมูลโทรมาตร ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำในลำน้ำธรรมชาติ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ข้อมูลระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำทั้งประเทศ ทั้งที่เป็นสถิติ และ Real Time รวมไปถึงฐานข้อมูล Agri-Map  2. ระบบวิเคราะห์ข้อมูล โดยการประยุกต์แบบจำลองคณิตศาสตร์ เพื่อพยากรณ์และให้ข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจแก่ผู้บริหารทั้งด้านสถานการณ์น้ำและการจัดการความเสี่ยงที่มีผลต่อเขื่อนและการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ  3. ระบบการนำเสนอข้อมูลแบบบูรณาการ ประกอบด้วย 2 ส่วนแสดงผล ได้แก่   3.1 ส่วนแสดงผลการติดตามสถานการณ์น้ำแบบ real time จากกล้องวงจรปิดจากโครงการชลประทาน  3.2 ส่วนแสดงข้อมูลจากระบบโทรมาตร ทั่วประเทศ 700 กว่าสถานี เพื่อให้เทคโนโลยีรองรับซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้อง ด้านน้ำ และสำนักงานชลประทาน 17 สำนักงานทั่วประเทศเข้าด้วยกันด้วยระบบ Video Wall Management และ Video Conference เพื่อช่วยให้การนำเสนอข้อมูลและสั่งการในการบริหารจัดการน้ำ สามารถดำเนินไปได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพและทันสถานการณ์ตลอดเวลา สำนักงานกปร.