ปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติกฟผ. เกาะนกบางปะกง "ดินและน้ำ ลมและฟ้า ป่าและเขา รวมกันเข้าคือทรัพย์สินแผ่นดินแม่ ฝากลูกไทยรวมใจภักดิ์รักดูแล เพื่อมอบแก่หลานเหลนไทยไปชั่วกาล" คำขวัญ "วันแม่แห่งชาติ" ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 พระราชทาน ประจำปี ๒๕๕๘ เกาะนกหรือเกาะธรรมชาติ อยู่ในพื้นที่ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราหรือชื่อเดิม เกาะลัด หรือ แหลมตาม้วน ตั้งอยู่บริเวณกลางปากแม่น้ำบางปะกง เกิดจากการตกตะกอนในแม่น้ำบางปะกงเป็นระยะเวลานาน จนกลายเป็นผืนดินขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 125 ไร่ พิกัดบริเวณหมู่ 1 ตำบลท่าข้าม เป็นป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2530 อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ดั้งเดิม เกาะนก มีสภาพเป็นป่าจาก และ ป่าแสม เทศบาลตำบลท่าข้ามได้บันทึกไว้ว่า ชาวบ้านเริ่มเข้าไปตัดจากมาขายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบให้ป่าเสื่อมโทรมเนื่องจากเมื่อต้นจากอายุมาก และ หนาแน่น กลายเป็น “โขมงจาก” มีความจำเป็นต้องตัดออกเพื่อเปิดให้ป่าโปร่ง แต่ในปี พ.ศ. 2530 ชาวบ้านเริ่มเข้าไปบุกรุกตัดไม้ป่าชายเลนเพื่อขุดบ่อเลี้ยงกุ้ง ทำให้ป่าเสื่อมโทรม เมื่อชาวบ้านเลิกเลี้ยงกุ้ง ในปี พ.ศ. 2535 พื้นที่ด้านในของเกาะนกจึงกลายเป็นนากุ้งร้าง ธรรมชาติเริ่มเยียวยาตัวเอง ป่าชายเลนเริ่มฟื้นตัว แต่ก็เป็นไปด้วยความล่าช้า เป็นไปดั่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก แล้วก็พระราชดำรัสที่ว่าปลูกป่าในใจคน นั่นคือสำนึกของการไม่ไปตัดไม้ทำลายป่าเพื่อประโยชน์ตน และถึงในช่วงที่ไม่มีใครบุกลุกป่าแต่ก็ต้องช่วยดูแลกันไปด้วยป่าและคนอยู่ร่วมกันพึ่งพากันดูแลกัน นั่นจึงเป็นที่มาที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เข้ามาร่วมพัฒนาเกาะนก ซึ่งกฟผ.มีโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเริ่มมาตั้งแต่ปี2537ปลูกป่ามาแล้วทั่วประเทศหลายแสนไร่รวมทั้งป่าชายเลนด้วย วันที่ 28 มีนาคม 2544 เทศบาลท่าข้าม ร่วมกับสำนักงานป่าไม้เขตปราจีนบุรี สำรวจทางอากาศ พบว่า ช่วงกลางและด้านใต้ของเกาะเป็นป่าเสื่อมโทรม รกร้าง มีต้นไม้ประปราย และพบว่าพื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้มีดินเลนงอกใหม่ เทศบาลท่าข้าม และ ชาวบ้านที่มีจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่น เห็นว่า ป่าชายเลนเปรียบเสมือน บ้านของสัตว์น้ำวัยอ่อน และ นกน้ำนานาชนิด รวมทั้งรากของไม้ป่าชายเลนเป็นด่านกรองสิ่งปฏิกูลบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ก่อนไหลลงสู่ทะเล ดังนั้นหากปล่อยละเลยต่อไป อาจเกิดผลกระทบเสียหายต่อระบบนิเวศของปากแม่น้ำบางปะกง นางสมจิตร พันธุ์สุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลท่าข้าม ในขณะนั้นจึงได้มีหนังสือขอความร่วมมือให้ โรงไฟฟ้าบางปะกง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) ช่วยสนับสนุนโครงการพัฒนาเกาะธรรมชาติท่าข้าม กฟผ. ตระหนักถึงความรับผิดชอบ ต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และ ป่าชายเลนที่เกาะนกนับว่า เป็นป่าชายเลนผืนสุดท้ายของ ตำบลท่าข้าม จึงนำโครงการปลูกป่า กฟผ. เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9รับ พื้นที่ป่าชายเลน ณ เกาะธรรมชาติ ปากแม่น้ำบางปะกง ไว้ในโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ของ กฟผ. ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โครงการ กฟผ. ปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติเริ่ม เตรียมการปลูกป่าชายเลน ที่จำนวน 60 ไร่ ในปี 2548 กฟผ. โรงไฟฟ้าบางปะกงจัดงบประมาณ สนับสนุนการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนพร้อมทั้งการก่อสร้างโป๊ะและการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ท่าเรือ หมู่ 1 ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และใช้ในการรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมโลมาธรรมชาติที่ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ของทุก ๆ ปีได้เข้ามาที่อ่าวนี้เป็นฝูงใหญ่สร้างความน่ารักอย่างเป็นธรรมชาติของโลมาแก่ผู้มาท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ (ทูตสันทวไมตรีแห่งท้องทะเล) รวมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่เกาะธรรมชาติท่าข้าม (เกาะนก) ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนโดยในการพัฒนาที่ผ่านมานั้นทางเทศบาลฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติที่มีความยาวกว่า 1,500 เมตร ซึ่งในระหว่างทางเดินจะได้พบเห็นพรรณไม้ และสิ่งมีชีวิตต่างๆบนเกาะมากมาย โดยจะมีป้ายสื่อความหมายบอกสิ่งที่พบเห็นตลอดเส้นทางเดินศึกษา วันนี้ชาวชุมชชนตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกงได้ทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลน ณ เกาะนก(เกาะธรรมชาติ)กลับคืนมาสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกนำไปสู่การดำรงชีวิตที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ขาดแคลนปัจจัยสี่ที่ทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนเกื้อกูลตอบสนองจากการที่ชาวชุมชนดูแลรักษา สืบสานพระราชปณิธานด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ที่ทรงนำพระองค์เป็นต้นแบบในการปลูกป่ารักษาแหล่งน้ำเพื่อให้ราษฎรตระหนักรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งสร้างชีวิตสร้างประโยชน์แก่สรรพชีวิตในโลกนี้