เส้นทางสายการเมืองของแต่ละคนเริ่มต้นไม่เหมือนกัน บางคนมีพ่อแม่ญาติพี่น้องเป็นนักการเมือง ก็เลยต้องเป็นนักการเมือง แต่บางคนไม่ได้มีความไฝ่ฝันแต่เมื่อเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ไม่ได้รับการแก้ไข จึงต้องอาสาเข้ามาทำหน้าที่ด้วยเป้าหมายหลักต้องการช่วยเหลือและพัฒนาพื้นที่ให้ชาวบ้านได้เข้าถึงระบบสาธาณูปโภคและการบริการด้านต่างๆ ดร.รังสิต ใยยุง สมาชิกสภาองค์กาาบริหารส่วนจังหวัด(ส.อบจ.)ปทุมธานี อ.เมือง เขต 2 กล่าวว่า ตนเองไม่เคยคิดว่าจะต้องเข้ามาเดินทางสายการเมืองท้องถิ่น แต่เมื่อพบเห็นประชาชนได้รับความเดือดร้อนไม่มีไฟฟ้า ประปาใช้ ถนนหนทางสัญจรไปมาก็ยากลำบาก เมื่อก่อนคลองบางหลวง 30-40 ปีไม่เคยมีการขุดลอก ผักตบชวาแเน่นจนคนสามารถเดินข้ามไปมาหากันได้เลย น้ำก็ไม่สามารถนำเอามาใช้ได้ ชาวบ้านอยู่กันในชุมชนแออัดน่าสงสารมาก น้ำที่อยู่ในคลองหน้าบ้านเป็นน้ำคลองเน่าๆ ทุกหลังคาเรือนก็ยากจน ได้แต่ตักน้ำในคลองมาใส่โอ่งไว้แกว่งสารส้ม พอตกตะกอนก็ตักจากโอ่งโน้นมาใส่โอ่งนี้แล้วแกว่งสารส้ม พอตกตะกอนก็ตักจากโอ่งโน้นมาใส่โอ่งนี้ถึงจะใช้ได้เป็นโอ่งที่ 3 ประปาก็ไม่มี “ตอนนั้นผมตั้งปณิธานเลยว่าถ้าผมมีบุญมีวาสนาจริง ถ้าชนะการเลือกตั้งผมจะเดินท่อประปาให้ ตรงนี้คือที่แรกของโครงการของผม ผลงานแรกของผมจะต้องลงจุดนี้ ผลคือผมชนะการเลือกตั้งและได้รับความไว้วางใจเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านมีน้ำประปาใช้แล้ว จากต้องตักน้ำเน่าๆหน้าบ้านมากินมาใช้ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ผมได้ตั้งปณิธานไว้ จึงได้จำฝังใจว่านั่นเป็นผลงานแรกของผมที่ทำให้ชาวบ้าน” ดร.รังสิต บอกว่า การพัฒนาจังหวัดปทุมธานี ต้องเน้นเรื่องสาธารณูปโภค สาธารณูปการก่อนเลย เพราะถนนเราขาดการพัฒนามานานมาก ประกอบกับปทุมเรามันเป็นสภาพลำน้ำ ลำคลองเยอะ ปีไหนแล้งจัดถนนก็ไหลไปอยู่ในคลอง ปีไหนน้ำท่วมถนนก็พัง ถนนบางเส้นก็ต้องมีการทำถึง 3ครั้ง เพราะเมื่อน้ำมาก็กัดเซาะถนนพัง พอถึงฤดูแล้งถนนก็สไลด์ลงคลอง ก็ต้องเพิ่มงบประมาณในการตอกเข็มลงกลางถนนกันสไลด์ลงคลอง อย่างถนนวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม -บางหลวง เมื่อก่อนเป็นถนนลูกรัง เมื่อ13 ปีที่แล้วก็เอางบประมาณมาตั้งเป็นถนนคอนกรีตตอนนี้ก็ได้นำงบมาทำเป็นถนนคอนกรีตแล้ว เรื่องไฟฟ้าก็เหมือนกันมจำได้ว่าจากพื้นที่ต.บางหลวง ขับรถใส่เกียร์ยังไม่ครบเลยถึงศาลากลาง ปรากฏตรงนั้นไม่มีไฟฟ้าใช้ เพิ่งจะมีใช้ตอนผมเป็นสจ.สมัยที่ 2 ต้องตั้งงบทำให้ ซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่เขตอำเภอเมืองแต่ไม่มีไฟฟ้าใช้ “การจะทำโครงการอะไรสักอย่างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถึงแม้เรารู้ว่าชาวบ้านประสบปัญหาเรื่องอะไร ชาวบ้านอยากได้อะไร แต่บางเรื่องเราก็ไม่สามารถทำได้เพราะ ไปติดขัดระเบียบของ สตง. หรือบางเรื่อง ไม่ขัดกับ สตง.ก็ไปขัดกับระเบียบของกระทรวงมหาดไทย เช่น กรณีการทำถนน ของอบจ.มีการกำหนดชัดเจนว่าต้องไม่น้อยกว่า 6 เมตร ต้องมีพื้นที่เชื่อมต่อกับเขตการปกครองอีกเขตหนึ่ง ปรากฏว่าหมู่3 ต.บางเดื่อ ถนนเสียหายเป็นปลักควายเยอะ ผมตั้งงบไป 2 ล้านจะทำให้ชาวบ้าน ผ่านสภาเรียบร้อย ปรากฏว่าไปสำรวจหน้างาน ทำไม่ได้เนื่องจากสุดทางของถนนเป็นคลองบางโพธิ์ใต้ ไม่เชื่อมต่อกับเขตการปกครองหนึ่งปกครองใด คือตำบลนี้คลองมันกั้นอยู่งบประมาณตกไม่ได้ ชาวบ้านก็ลำบากต่อไป” ส.อบจ.ปทุมธานี บอกว่า เรื่องการส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น ก็เป็นอีกเรื่องที่มีปัญหา ปทุมธานีมีระเพณีแห่หางหงส์ ธงตะขาบ ซึ่งเป็นประเพณีของคนมอญ วัดมอญจะมีเสาธงตะขาบอยู่หน้าวัด ในอดีตทำพิธีแห่หางหงส์ ธงตะขาบ ปล่อยนก ปล่อยปลา เลี้ยงพระ มีมหรสพของมอญ สะบ้า เกี่ยวกับของมอญ ปรากฏว่าสตง.ห้ามเบิกจ่ายการละเล่นประเพณีวัฒนธรรมของคนชาวมอญในครั้งนั้น บอกว่าผิด ตอนเช้าที่ต้องปล่อยนก ปล่อยปลา เอาธงตะขาบขึ้นกับเสาหงส์ก็จะมีพระมาสวด ปรากฏว่าจะถวายอาหารพระก็ไม่ได้ ผิด จะถวายปัจจัยพระก็ผิดอีก หนที่สุดทำไม่ได้ นี่คือประเพณีวัฒนธรรมที่อนุรักษ์ไว้ไม่อยู่แล้ว โดยมาตรการของสตง. ถือเป็นระเบียบที่ขัดกับความเป็นจริง “เรื่องดังกล่าวคิดว่าต้องให้ผู้ปฏิบัติมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายด้วย อย่างการจัดงานประเพณีวัฒนธรรมการแห่หางหงส์ ธงตะขาบเค้าจะทำในช่วงของพรรษาเป็นประเพณีของมอญประเพณีเหล่านี้ต้องสูญหาย แต่ในระเบียบของอำนาจขององค์กรส่วนท้องถิ่นคือการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม แต่รักษาไม่ได้เพราะกฎมันออกมา นี่เรื่องใหญ่ เป็นอำนาจหน้าที่เลยนะ ดูแลขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม แต่ระเบียบตรงนี้มาฆ่าเราเอง” ดร.รังสิต กล่าวอีกว่า ในการทำงานด้านพัฒนานั้นตนจะคำนึงถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก โดยลงไปในพื้นที่ดูความทุกข์ยาก ความต้องการของชาวบ้าน ไปถึงก็นั่งคุยกับเขาว่าต้องการอะไร อะไรที่ต้องการโดยด่วนเลย อย่างต้องการา 10 เรื่อง แต่งบประมาณไม่เพียงพอก็ไล่เรียงตามลำดับไปว่าอะไรที่ควรจะทำให้ก่อน “ผมทำงานให้ชาวบ้านเต็มที่ อยากให้ทำเพิ่มเติมตรงไหนก็บอกมา ไม่มีเรื่องเงินทอน หรือกินเปอร์เซ็นต์ เพราะผมมาแบบไม่มีต้นทุน ไม่จำเป็นต้องถอนทุน เพราะไม่เคยซื้อเสียงเข้ามา ไม่มีต้นทุนในการเป็นสจ. ลงแรงอย่างเดียว เดินหาเสียงจนนาทีสุดท้าย เดินบางวันมีตังค์ไป 300-400 บาท พักเที่ยงก็ไปกินข้าววัด นี่คือเรื่องจริงๆ ไม่มีใครจนอย่างผมแล้ว กินข้าววัดกันเป็นอาชีพเลย บางวันถึงต้องรวบรวมเงินกันเติมน้ำมัน รถหาเสียงมีคันเดียว ขับไปด้วย หาเสียงไปด้วย แจกบัตรไปด้วย ไม่เคยมีเดินเป็นขบวนไปแจกบัตร ไปกัน3-4 คนแจกกันทุกหลังคาเรือน เดินเข้าครบทุกหลังคาเรือน” ดร.รังสิต บอกด้วยว่า การวางนโยบายพัฒนาของอบจ.ปทุมธานี นั้นต้องการพัฒนาให้ประชาชนในทุกๆด้าน ทั้งสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น การพัฒนาถนน แม่น้ำ ลำคลองด้านการเกษตร แม้กระทั่งของด้านการศึกษา อบจ.มีโรงเรียนอยู่ในสังกัด 2 โรงด้วยกันเป็นโรงเรียนประถม 1 ที่ โรงเรียนมัธยม 1 ที่ ที่เป็นนโยบายวางยาวไว้ว่าจะทำอย่างไรกับการที่นักเรียนได้มีที่เรียนและพัฒนาครูบาอาจารย์ให้ตรงกับความเป็นจริงในยุคปัจจุบัน อย่างโรงเรียนสามโคกมีครูสอนทั้งภาษาจีน ภาษาอังกฤษเพื่อรองรับกลุ่มอาเซียนที่จะเข้ามาในอนาคต มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักเรียน ระหว่างประเทศ นี่คือนโยบายและความตั้งใจจริงของ “ดร.รังสิต ใยยุง” ส.อบจ.ปทุมธานี อ.เมือง เขต 2 ที่ต้องการพัฒนาจังหวัดปทุมธานีให้เจริญรุดหน้าไปทุกๆด้าน เข้ามาทำหน้าที่เพื่อพัฒนาท้องถิ่นโดยยึดถือความต้องการและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เรื่อง : ปรีชา หยั่งทะเล