กรมศิลป์เผยแบบพระจิตกาธาน 9 ชั้น ยอดสูงสุดรูปพรหมพักตร์ สื่อพรหมวิหาร 4 “ในหลวง ร.9” ฐานลายสิงห์-บัวเชิงบาตร เป็นงานไม้แกะลายปิดทองล้วงสี ส่วนงานประดับเครื่องสด-แทงหยวก หารือร่วมกับสำนักพระราชวัง-ฝ่ายใน-ช่างเพชรแล้ว นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ กล่าวว่า ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โถงกลางภายในบุษบกประธานพระเมรุมาศจะเป็นที่ประดิษฐานพระจิตกาธานใช้สำหรับประดิษฐานพระบรมโกศและถวายพระเพลิงพระบรมศพบนพระเมรุมาศ พระจิตกาธานในครั้งนี้ได้ออกแบบเป็นงานไม้แกะปิดทองล้วงสี ใช้สีเหลืองงาช้าง มียอด 9 ชั้น ยอดชั้นสูงสุดเป็นงานแกะจำหลักไม้จันทน์หอมรูปพรหมพักตร์ แสดงถึงพรหมวิหาร 4 ในการปกครองบ้านเมืองของในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยมีนายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงาน ศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ เป็นผู้ออกแบบ จัดสร้างพรหมพักตร์ที่ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา และสีบัวทอง จ.อ่างทอง ขณะนี้ชิ้นงานเสร็จแล้ว ได้หารือกับนายสมชายที่จะดำเนินการปิดทองส่วนยอดบางส่วนเพื่อความสง่างามและไม่บดบังความงดงามของการแกะสลักไม้จันทน์ รวมถึงให้เกิดความงดงามขณะต้องแสง นายก่อเกียรติ กล่าวอีกว่า สำหรับฐานพระจิตกาธาน ออกแบบเป็นลายฐานสิงห์ตามฐานานุศักดิ์ โดยมีบัวเชิงบาตรเป็นองค์ประกอบ สื่อถึงดอกบัวที่รองรับคุณงามความดีของพระองค์ท่าน เป็นพระจิตกาธานที่สูง 10 เมตร กว้าง 4 เมตร ยาว 5 เมตร ขณะนี้งานขยายแบบเท่าจริงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่งให้โรงงานผลิตตามแบบ รวมถึงส่งตำแหน่งที่ประดับหยวกและประดับเครื่องสดให้สำนักพระราชวัง รวมถึงฝ่ายในเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยยอดชั้นที่ 9 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร้อยดอกไม้เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ ในส่วนของฉัตรดอกไม้ประกอบจะใช้โครงไม้แดง มีคุณสมบัติไม่คดงอได้ง่าย บริษัทผู้ผลิตจะเหลาไม้จากโคนขนาด 3.50 เซนติเมตร ขึ้นมาจนถึงส่วนปลายที่ขนาด 2 เซนติเมตร ขณะที่วงฉัตรหรือม่านดอกไม้เป็นโลหะเหล็กเพลาไร้สนิม จะเป็นเส้นลวดขนาดเล็ก 3 มิลลิเมตร โดยจะแยกฉัตรประดับดอกไม้ ทำเป็นส่วนๆ ก่อนสวมทีละชั้น “ทั้งนี้ยังได้หารือและวางแผนการทำงานร่วมกับสำนักพระราชวังถึงวิธีการผลิต การประดับม่านดอกไม้ รวมถึงการประดับหยวกบริเวณชั้นเชิงกลอน โดยงานหยวกจะมีช่างแทงหยวกเมืองเพชรบุรี และอาสาสมัครร่วมปฏิบติงานแทงหยวกเข้าร่วม สำหรับฉากบังเพลิงที่กำลังติดตั้งบนพระเมรุมาศ ในขณะนี้เป็นงานไม้แกะจำหลักลายปิดทองประดับกระจก ถือเป็นแบบที่เขียนเป็นหมวดสุดท้ายในพระราชพิธีครั้งนี้” นายก่อเกียรติ กล่าว