เป็นปรากฏการณ์ที่ถาโถมไหลบ่า แบบไม่ผิดอะไรกับกระบวนท่าวิทยายุทธ์เรื่องกำลังภายใน สำหรับ เม็ดเงินลงทุนจากพญามังกร นิกเนมของจีนแผ่นดินใหญ่ ที่แปรผันกระบวนยุทธ์จากสกุลเงินหยวน เป็นสกุลเงินตราหลักระหว่างประเทศ อย่าง “ดอลลาร์สหรัฐฯ” หรือไม่ก็ “ยูโร” ของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรืออียู เป็นอาทิ ก่อนรุกจู่โจมเข้าสู่ภูมิภาคยุโรป อย่างชนิดท่วมท้น แทบนับกระบวนท่าไม่ทันกันทีเดียว “ท่วมท้น” ขนาดไหนนั้นหล่ะหรือ? ก็ถึงขนาดสยบโค่น “จอมยุทธ์หมายมือหนึ่งของแผ่นดิน” คือ “มหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก” อย่าง “สหรัฐอเมริกา” ให้ต้องพลาดท่าปราชัยไปเมื่อปีที่แล้ว ตามการเปิดเผยในผลการศึกษาวิจัยของ “นายดมิทรี ทราทาส” ผู้เชี่ยวชาญอิสระ และนักวิเคราะห์ด้านการเงินและตลาดทุนจากรัสเซีย โดยนายทราทาส กล่าวว่า จากเดิมถิ่นลุงแซมแดนสหรัฐฯ แห่งนั้น แต่ก่อนร่อนชะไร ถือเป็นจุดหมายปลายของตลาดเงิน ตลาดทุน ของบรรดานักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ล้วนแห่ไปลงทุนเข้าซื้อกิจการธุรกิจที่เป็นเชื้อชาติและสัญชาติ “อเมริกัน” กันเป็นว่าเล่น เรียกว่า บริษัทธุรกิจในอเมริกาถือเป็นที่หมายตาของบรรดานักลงทุนจากจีนแผ่ดินใหญ่แห่กันไปเข้าซื้อในอันดับหมายเลขหนึ่ง หากเอ่ยถึงสถานที่นอกประเทศที่พวกเขาจะเข้าไปร่วมลงทุนด้วย หรือเข้าซื้อกิจการ กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกา มิได้เนื้อหอมดังว่าดั่งเฉกเช่นที่ผ่านมาแล้ว แต่บรรดานักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ เบี่ยงเบนความสนใจหมายตาไปยังภูมิภาคยุโรปแทน ตามการเปิดเผยของ “สถาบันเมอร์แคเตอร์ อินสติติว ฟอร์ ไชนา สตัดดีส์” หรือ “เอ็มอีอาร์ไอซีเอส” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “เมอริกส์” ระบุว่า เม็ดเงินจากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่เข้าไป “ลงทุนโดยตรง (Direct investment)” ยังภูมิภาคยุโรป มีจำนวนมาถึง 1.214 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยกัน โดยจุดหมายปลายทางของเงินทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้าไปในภูมิภาคยุโรประดับต้นๆ ก็ได้แก่ “กลุ่ม 3 มหาอำนาจยักษ์ใหญ่” หรือ “บิ๊กทรี” กอปรด้วย สหราชอาณาจักร เยอรมนี และฝรั่งเศส ซึ่งมีสัดส่วนตัวเลขของเม็ดเงินลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ คิดเป็นถึงร้อยละ 59 หรือกว่าครึ่งของเม็ดเงินลงทุนที่ระดมไปเลยทีเดียว รองลงมาก็เป็นกลุ่มประเทศ “ยุโรปเหนือ” เช่น นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก และฟินแลนด์ มีตัวเลขการลงทุนคิดเป็นร้อยละ 27 ตามด้วย “กลุ่มประเทศยุโรปใต้” เช่น อิตาลี กรีซ โครเอเชีย เป็นต้น ลงทุนในอัตราร้อยละ 10 ส่วนภาคธุรกิจที่บรรดานักลงทุนจีนแผ่นดินใหญ่ สนใจเข้าไปลงทุนระดับต้นๆ ก็ได้แก่ ด้านสาธารณูปโภค การขนส่ง อินฟราสตรักเจอร์ อุตสาหกรรมเครื่องกล พลังงาน และธุรกิจสินค้าอุปโภค-บริโภค ทั้งนี้ ภาคธุรกิจดังกล่าว ได้เห็นการเจริญเติบโตของการระดมเม็ดเงินลงทุนจากบรรดานักลงทุนจีนแผ่นดินใหญ่ ในปี 2559 ที่ผ่านมามีอัตราสูงถึงร้อยละ 100 – 150 หรือ 1 เท่า – 1.5 เท่า เปรียบเทียบกับตัวเลขของช่วงปี 2555 – 2558 ล่าสุด ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากจีนแผ่นดินใหญ่มายังภูมิภาคยุโรป ในปี 2560 ที่ผ่านพ้นไปเพียง 8 เดือนเท่านั้น ก็มีมูลค่าสูงถึง 1.70 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าไปแล้ว นอกจากเข้าไปลงทุนในภาคธุรกิจเหล่านี้แล้ว การ “ควบรวมกิจการ” ก็มีอัตราเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มสูงขึ้นจากนักลงทุนจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยเช่นกัน โดยตัวเลขเมื่อปีที่แล้ว คือ 2559 ปรากฏว่า บรรดาบริษัทจากแดนมังกรได้ “ข้อตกลงควบรวมกิจการ หรือ เอ็มแอนด์เอ (M&A : Merger & Acquisition)” กับเหล่าบริษัทของยุโรป รวมจำนวนแล้วถึง 309 ข้อตกลง คิดเป็นตัวเงินก็มีมูลค่าถึงเกือบ 8.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เฉพาะในตลาดเยอรมนี ปรากฏว่า บริษัทจากจีนแผ่นดินใหญ่ได้ทำความตกลงควบรวมกิจการกับบริษัทแห่งแดนเบียร์ คือ นิกเนมของเยอรมนี ที่ถือว่าเป็นชาติมหาอำนาจผู้นำของภูมิภาคยุโรป ก็มีจำนวนถึง 68 ข้อตกลงด้วยกัน นายวลาดิสลาฟ เบลอฟ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศเยอรมนี และยังเป็นรองผู้อำนวยการของสถาบันยุโรปศึกษาแห่ง “รัสเซีย อะคาเดมี ออฟ ไซแอนซ์” แสดงทรรศนะว่า เม็ดเงินจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ระดมมาลงทุนในตลาดยุโรปที่ “บูม” อย่างมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปีที่แล้ว ไม่ใช่เรื่องอุบัติเหตุ หรือบังเอิญ แต่มีที่มาที่ไปของปัจจัยทำให้เกิดขึ้น สอดรับกับทรรศนะของนายทราทาส ที่ประสานเสียงแสดงทรรศนะไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจัยแรกก็มาจากสหรัฐฯ ที่ปรากฏความขัดแย้งในความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ตึงเครียดมาอย่างยาวนาน จากการที่ทางการวอชิงตัน โจมตีทางการปักกิ่ง เรื่องการทุ่มราคา การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และการกีดกันทางการค้า เป็นต้น ก่อนทางกาวอชิงตัน ได้เพิ่มาตรการรกฎระเบียบทางการค้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ มาตลอดระยะเวลาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ก็ได้มี “คำสั่งจากฝ่ายบริหาร” หรือ เอ็กเซ็กคิวทีฟ ออร์เดอร์ (Executive Order) สกัดความพยายามควบรวมกิจการระหว่าง “แคนยอน บริดจ์ แคปิตอล” ของจีนแผ่นดินใหญ่ กับ “บริษัท แลตทิส เซมิคอนดักเตอร์ คอร์ปอเรชัน” ของสหรัฐฯ ซึ่งมีข้อตกลงควบรวมกิจการกันคิดเป็นมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทางประธานาธิบดีทรัมป์ อ้างเหตุเรื่อง “ความมั่นคงของชาติ” เป็นประการสำคัญ เป็นต้น นอกจากปัจจัยจากสหรัฐฯ ที่ทำให้จีนแผ่นดินใหญ่ ต้องเบนเข็มเปลี่ยนทิศมายังภูมิภาคยุโรป ปรากฏว่า ทางฝั่งของปักกิ่งเอง ก็ปรากฏว่า พญามังกรสนใจที่จะกางกรงเล็บ เข้าไปยังดินแดนที่ชื่อว่า เป็น “ครูสรรพวิทยาการของโลก” แห่งนี้ โดยหมายใจที่ขยายอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองเข้าไปยังยุโรป ประสานสอดรับกับโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จะมุ่งตรงไปถึงในอนาคตข้างหน้า