เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ร่วมกับทางทางจังหวัด ได้เปิดถนนคนเดิน “เซราะกราว วอล์คกิ้ง สตรีท” ที่บริเวณถนนรมย์บุรี หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ จากสี่แยกถนนจิระ ถึงสี่แยกถนนพิทักษ์ ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ มาตั้งแต่เดือน ก.ค.2557 เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบุรีรัมย์ได้มีพื้นที่สำหรับจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม สินค้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ตลอดจนของฝากของที่ระลึก ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เป็นการรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน หรือ เอ อี ซี.ของจังหวัด อีกทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในเมือง เป็นศูนย์กลางของการแสดงศิลปหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวบุรีรัมย์ และสร้างจุดท่องเที่ยวใหม่ที่สื่อแสดงถึงความภาคภูมิใจคนชาวบุรีรัมย์ในการรักและหวงแหนถิ่นกำเนิด และยังจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยมแหล่งท่องเที่ยวอารยธรรมขอมของโบราณ และสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นในอีกทางหนึ่ง พร้อมชมการแสดงดนตรีของเยาวชนและศิลปะพื้นบ้านของชาวจังหวัดบุรีรัมย์ด้วย สำหรับถนนคนเดิน “เซราะกราว วอล์คกิ้ง สตรีท” จะมีขึ้นในทุกวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. – 22.00 น. เพื่อให้นำเสนอสินค้า 9 ประเภท ประกอบไปด้วย สินค้าหัตถกรรม เครื่องประดับ สิ่งประดิษฐ์ ของที่ระลึก อาหารปรุงสำเร็จ อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่ม ตลาดสีเขียว และสินค้าเบ็ดเตล็ด จากผู้จำหน่าย 450 ราย มาจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้มาเยี่ยมเยียนได้ซื้อหาและเลือกชม ซึ่งการเปิดถนนคนเดินในครั้งนี้ถือเป็นแห่งแรกของจังหวัด โดยมีประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ พากันมาเดินเที่ยวชมและเลือกซื้อสินค้ากันเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการรองรับเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เอ อี ซี. ของจังหวัดบุรีรัมย์อีกทางหนึ่งด้วย ขณะเดียวกัน ถนนคนเดิน “เซราะกราว วอล์คกิ้ง สตรีท” จังหวัดบุรีรัมย์ ยังได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 3 จังหวัดนำร่องโครงการ “ถนนอาหารปลอดภัยและตลาดสดน่าซื้อ เพื่อส่งเสริมปีท่องเที่ยววิถีไทย ปี 2558” จากทั้งหมด 12 เมืองต้องห้าม...พลาด ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยกระดับมาตรฐานร้านอาหารริมทาง และตลาดสดให้มีคุณภาพ มาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่มีต่อร้านอาหารริมทาง หรือ Food Street ในเมืองไทย มีรสชาติถูกปากและถูกหลักอนามัย ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศการท่องเที่ยววิถีไทยในมุมมองวิถีชีวิตประจำวันของคนไทย ในการเที่ยวชมสัมผัสชีวิตของชุมชนในตลาดสดของท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทยอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงพาณิชย์ให้เป็น “ตลาดต้องชม...ตลาดเซราะกราว 9 ดี” นำร่องเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมและกระจายผลผลิต ทั้งผลผลิตทางการเกษตร หัตถกรรม อาหารพื้นบ้าน งานฝีมือ งานศิลปะ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของชุมชน รวมทั้งเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและถ่ายทอดอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน เพื่อสะท้อนจุดเด่นและสร้างจุดขายดึงดูดให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในชุมชน อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจในชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ต่อยอดไปถึงระดับจังหวัดและระดับประเทศด้วย ซึ่งตลาดต้องชม..ตลาดเซราะกราว 9 ดีที่ จ.บุรีรัมย์ ถือเป็นตลาดต้นแบบของชุมชนที่มีรูปแบบการดำเนินการสะท้อนเอกลักษณ์พาณิชย์ อัตลักษณ์ชุมชนได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นที่ประทับใจแก่ผู้มาเยือน ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์พร้อมจะนำไปเป็นรูปแบบแก่พื้นที่อื่นๆ ด้วย โดยปีนี้มีเป้าหมายจะเปิดตลาดต้องชมเพิ่มอีก 20 แห่ง และในปี 2559 จะเปิดเพิ่มอีก 57 แห่ง นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การเปิดถนนคนเดินในครั้งนี้เป็นความร่วมมือของทางจังหวัด และเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ประชาชนได้นำเอาภูมิปัญญา ศิลปะที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวบุรีรัมย์ออกมาแสดงและจำหน่าย เป็นพื้นที่ในการพบปะ นำสิ่งดีๆ มาแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งยังเป็นการสะท้อนและสร้างจิตสำนึกในการรักถิ่นกำเนิดของชาวบุรีรัมย์ในการเป็นครอบครัวเดียวกัน สายเลือดเดียวกัน และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับคนเมือง และอำเภอใกล้เคียง อีกทั้งยังจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยว เดินทางเข้ามาเที่ยวและใช้จ่าย ทำให้มีเงินสะพัดในจังหวัดเพิ่มมากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย ด้านนายกมล เรืองสุขศรีวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์ กล่าวว่า ถนนคนเดินแห่งนี้เปรียบเสมือนชุมชนๆ หนึ่งที่มีกรรมการบริหารถนนคนเดิน เป็นผู้บริหารงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการตั้งกองทุนเพื่อบริหารจัดการ ซึ่งปัจจุบันมีเงินกองทุนประมาณ400,000 กว่าบาท เป็นถนนสายวัฒนธรรมที่กำหนดให้เป็นถนนอาหารปลอดภัย ถนนปลอดบุหรี่ ถนนปลอดเครื่องแอลกอฮอล์ ถนนปลอดน้ำอัดลม และเป็นถนนปลอดโฟม 100 % เพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัย ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้า จำนวน 450 ร้าน หมุนเวียนกันมาจำหน่ายสินค้าทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างเวลา 16.00 – 22.00 น. มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 700,000 -1,000,000 บาท พร้อมทั้งฝากถึงพ่อค้าแม่ค้าที่นำสินค้าต่างๆ มาจำหน่ายในตลาดดังกล่าว ให้มีความเป็นธรรมกับผู้บริโภคทั้งการปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน รวมถึงตาชั่งที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ลูกค้าเกิดความเป็นธรรมทั้งกับผู้จำหน่ายและผู้บริโภค และความเป็นเจ้าบ้านที่ดียิ้มแย้มแจ่มใส ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย