“ประจิน” ตั้งเป้าปี61 เน็ตคลุมทั่วประเทศ กว่า7 หมื่นหมู่บ้าน “ก.ดีอี” จดปากกา MOU ตั้ง “GEN Asia” ศูนย์ความร่วมมือสตาร์ทอัพระดับภูมิภาค “CAT” ดึงพันธมิตรโชว์เทคโนโลยี สุดล้ำ วันที่ 21 ก.ย.พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน Digital Thailand Big Bang 2017 ว่า รัฐบาลยุคปัจจุบันได้มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาวตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยในปี 2560 โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ลงทุนไว้จะเกิดผลสัมฤทธิ์แล้ว และเป็นฐานในการพัฒนาต่อยอดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทุนมนุษย์ และภาครัฐ ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯในฐานะที่เป็นผู้ดําเนินการหลักได้ร่วมกับภาครัฐ และเอกชนในการวางโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมพิ้นที่ทั่วประเทศ ด้วยราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งผลจากโครงการเน็ตประชารัฐ ภายในสิ้นปี 2560 ชุมชนจํานวน 24,700 หมู่บ้าน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และจุดกระจายสัญญาณ Free Wifi หมู่บ้านละ 1 จุด และภายในสิ้นปี 2561จะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึง 74,965 หมู่บ้าน ซึ่งครอบคลุมพิ้นที่ที่ทั้งหมดทั่วประเทศ ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการดําเนินงาน อาทิ โครงการดิจิทัลชุมชนด้าน e-Commerce โดยใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐอยู่ระหว่างหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกําหนดแนวทางพัฒนาระบบ e-Market Place กลาง และระบบจัดการร้านค้า การพัฒนาระบบ e-Logistics และ e-payment ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ทุกกระทรวงคํานึงถึงผลประโยชน์จากการใช้เน็ตประชารัฐในการยกระดับการให้บริการสาธารณะสําหรับประชาชน พลอากาศเอกประจิน กล่าวว่า ทั้งนี้เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ใช้เป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนการทํางานแต่สามารถกลมกลืนเข้ากับชีวิตประจําวัน และรวมเข้าไลฟ์สไตล์จนกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นพลังผลักดันให้ทั้งประเทศเปลี่ยนแปลงไปถึงระดับรากฐาน อาทิ ชีวิตของคน- ครอบครัว ที่ทุกวันนี้คนใช้งานเทคโนโลยีที่เรียกว่า Internet of Thing โดยไม่รู้ตัว ซึ่งได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ในมือไม่ว่าจะเป็นtablet ,smart phone หรืออุปกรณ์อื่นๆ ทําให้เราสามารถเชื่อมต่อระหว่าง คน สัตว์ สิ่งของ โดยมีเซนเซอร์ที่ติดเข้ากับอุปกรณ์ต่างๆ เป็นตัวเชื่อมโยง เช่น เย็นอัจฉริยะ และนาฬิกาอัจฉริยะ ขณะที่ในงานบริการของภาครัฐที่จะนําเทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลมาใช้ในการปฏิบัติงาน ยังมุ่งเน้นในเรื่องบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ทําให้ข้อมูลของประชาชนเป็นภาพเดียว ช่วยให้ตอบโจทย์การอํานวยความสะดวกให้แก่ประชาชนได้มากขี้น เช่น ภาคเกษตรในการหาความรู้และทําการตลาดผ่านอินเทอร์เน็ต ,ภาคอุตสาหกรรม เพื่อมุ่งสู่การเป็น industry 4.0 ,ภาคบริการ ที่นิยมนําเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ในการบริหาร และการพลิกโฉมธุรกิจไปสู่ธุรกิจรูปแบบใหม่ๆด้วยข้อมูล และภาคการเงิน ที่ความนิยมใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรเครดิต, e-payment) เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะช่วยลดต้นทุนในการบริหารเงินสดของธนาคาร ในอนาคต และอาจใช้สกุลเงินในรูปแบบของดิจิทัล (Bitcoin) เข้ามาแทน “จากการสํารวจของ Akami Technologies4 พบว่า ไตรมาสแรกของปี 2560 ความเร็วอินเทอร์เน็ตทั่วโลกอยู่ที่ 7.2 Mbps ประเทศไทยอยู่ในลําดับที่ 21 ของโลก ความเร็วเฉลี่ย 16 Mbps โดยประเทศที่มีความเร็วอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เกาหลีใต้ ความเร็วเฉลี่ย 28.6 Mbps ,อันดับ 2 นอร์เวย์ความเร็วเฉลี่ย 23.5 Mbps และอันดับ 3 สวีเดน ความเร็วเฉลี่ย 22.5 Mbps ซึ่งจากนี้ไปประเทศไทยจะถูกขับเคลื่อนสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวเร่งสําคัญ เช่น XaaS ,Cybersecurity และ Artificial Intelligence เป็นต้น และด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้จะมาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมและสังคม สร้างตลาดใหม่ เกิดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ รูปแบบธุรกิจใหม่ ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเดิมในรูปแบบเพื่อขับเคลื่อนโอกาสการเติบโตทั่วโลก”พลอากาศเอกประจิน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(เอ็มโอยู)ระดับนานาชาติในด้านดิจิทัลหลายหน่วยงาน โดยเอ็มโอยูหลักๆ คือการลงนามร่วมกับ GEN (Global Entrepreneurship Network) ศูนย์ความร่วมมือสตาร์ทอัพระดับโลก มีประเทศสมาชิกกว่า165ประเทศ โดยวัตถุประสงค์ในการลงนามครั้งนี้ เพื่อจัดตั้งGEN Asia ซึ่งเป็นศูนย์ความร่วมมือสตาร์ทอัพระดับภูมิภาคแห่งที่ 2 โดยมีศูนย์กลางการดำเนินงานที่กรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะผลักดันความร่วมมือด้านการสนับสนุนสตาร์ทอัพในเอเชียเป็นรูปธรรม ผ่านการจัดสัมมนา และกิจกรรมเชื่อมโยงสตาร์ทอัพระหว่างประเทศ สำหรับในประเทศไทยเน้นสนับสนุนสตาร์ทอัพ ผ่าน2ช่องทาง ได้แก่ 1.การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศบ่มเพาะสตาร์ทอัพในกลุ่มนักศึกษา และ2.ระดมทุน Angel Fund ช่วยเหลือสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น โดยอาจดึงเงินสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันไทยมีสตาร์ทอัพทั้งสิ้นประมาณ 5 พันราย