ปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติที่จันทบุรี (2) พูดถึงโครงการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 ที่ประมวลรวมไว้ทั้งสิ้น 9 ด้าน1.ด้านการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 2. ด้านการประดิษฐ์และนวัตกรรม 3. ด้านการดูแลรักษาป่าและน้ำ 4. ด้านความพอเพียงและการเอาชนะความยากจน 5. ด้านการดูแลชาวนา 6. ด้านการศึกษา 7. ด้านการประหยัด 8. ด้านการเสียสละและการให้ทาน และ 9. ด้านการส่งเสริมให้เป็นคนดี ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี2537 ทั้งป่าบกป่าชายเลนตั้งแต่ยอดดอยจังหวัดน่านจนพื้นที่จังหวัดภาคใต้ รวมแล้วกว่า 20 ปีโดยมีประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศรวมพลังเดินตามรอยพระยุคลบาท ปี2560 กฟผ.ดำเนินโครงการร่วมกับสื่อพันธมิตร จัดปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 4กิจกรรม4 เส้นทาง พื้นที่รอบๆเขื่อนภูมิพล พื้นที่ยอดดอยจังหวัดน่าน ที่จังหวัดจันทบุรีแล้วสุดท้ายคือที่จังหวัดกระบี่ นำจิตอาสาคนปลายน้ำร่วมสืบสานพระราชปณิธาน ไปร่วมปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติที่จังหวัดจันทบุรีกับกฟผ.แล้วก็กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้คุยกับหลายภาคส่วนถึงความรู้สึกที่ร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานยังไม่จบความ ขอนำมาถ่ายทอดต่อ นายประจิตร สุนทรศศิน ช่างระดับ9 หัวหน้ากลุ่มงานปลูกป่ากฟผ.พื้นที่จ.จันทบุรีเล่าความว่า..ถึงวันนี้กฟผ.ปลูกป่าเพื่อเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศลทั่วประเทศไทยมาประมาณ 20 ปี ก็มีพื้นที่ทั่วไปประมาณ 400,000 กว่าไร่ พูดได้เต็มที่ว่าเป็นการปลูกป่าที่ยั่งยืน ระหว่างภาครัฐหรือผู้ร่วมโครงการปลูกป่าแล้วก็ชุมชนในพื้นที่ “ทำไมชาวบ้านถึงให้ความร่วมมือ จริงๆการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่เข้าไปดำเนินการปลูกป่าทุกพื้นที่ เราก็ต้องขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ คือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คือจะมีพื้นที่ที่ขอคืนจากชาวบ้าน หลังจากไม่ใช้ประโยชน์แล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดูว่าพื้นที่ต้องการการฟื้นฟูระดับไหน อย่างที่จันทบุรีที่เรามาดู คือ ต้องฟื้นฟูเร่งด่วน คือไม่มีต้นไม้เลย คือชาวบ้านเข้ามาเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา ทำนากุ้ง หลังจากทำไปแล้วระยะหนึ่งก็มีการขาดทุน ไม่คุ้มทุนบ้าง ก็มีการทิ้งพื้นที่ เราก็มาคุยกับชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนี้ว่าเอามั้ยมาปลูกป่ากัน เพราะว่าพื้นที่ตรงนี้ อ.ขลุง จ.จันทบุรี ปีนี้ที่เรามาปลูกที่จังหวัดจันทบุรี 3,000 ไร่ ก็เข้ามาคุยกับทางชาวบ้านโดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเข้ามาช่วยว่าหมู่นี้มีใคร มีกี่หมู่ ก็ไปคุยว่า เราจะมีงบประมาณมาปลูกป่า เป็นการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติสืบสานพระราชปณิธานแล้วก็เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เงินที่มาปลูกก็คือได้จากสำนักงบประมาณ สำนักงบประมาณเป็นผู้กำหนดว่าไร่ละเท่าไหร่ อย่างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต” นายประจิตร กล่าวอีกว่าจากปีแรกที่เราเริ่มเข้ามาปลูกป่าในโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติที่จังหวัดจันทบุรีปี 2558 เดิมเราหาพื้นที่ 1,000 ไร่ ชาวบ้านก็เพียงเข้ามามองว่าทำจริงไม่จริง พอหลังจากปี 58 แล้ว ปี 59 เราปลูกเพิ่มเป็น 2,000 ไร่ ชาวบ้านเห็นว่าเรามาปลูกจริง ทำจริง ชาวบ้านที่เข้าร่วมเขาได้รายได้ แล้วสามารถเข้ามาเก็บผลผลิตในพื้นที่ได้ พอมีการบริหารจัดการแล้ว พื้นที่ชายเลนก็จะมีพวกลูกปูลูกปลาลูกอะไรมาอาศัยอยู่ เขาก็สามารถเข้ามาได้โดยที่ทางเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็ไม่ได้กีดกันก็สามารถเข้ามาดำเนินการได้ ก็ยินยอม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็เพิ่มพื้นที่ให้เป็น 3,000 ไร่ชาวบ้านก็ยินยอม “คือเวลาเราเข้ามา จะมีการประชุมชาวบ้าน ทำประชาคมว่ามีการยินยอมมั้ย ทุกคนก็โอเค เขาก็จะแบ่งตามสัดส่วนว่าหมู่นี้ได้ไปเท่าไหร่ หมู่นั้นได้ไปเท่าไหร่ หมู่ไหนที่มีการบุกรุกถึงจะมีการปลูก เดิมพื้นที่ก็เป็นป่าธรรมชาติแล้วก็มีการเข้ามาบุกรุกมาเลี้ยงสัตว์น้ำ ก็คือทำนากุ้ง” นายประจิตร สุนทรศศิน ช่างระดับ9 หัวหน้ากลุ่มงานปลูกป่ากฟผ.พื้นที่จ.จันทบุรีกล่าวสรุป