ปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติที่จันทบุรี (จบ) คุยกันต่อโครงการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 มีการประมวลรวมพระราชปณิธานเพื่อเป็นต้นแบบเดินตามรอยพระยุคลบาทไว้ทั้งสิ้น 9 ด้าน1.ด้านการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 2. ด้านการประดิษฐ์และนวัตกรรม 3. ด้านการดูแลรักษาป่าและน้ำ 4. ด้านความพอเพียงและการเอาชนะความยากจน 5. ด้านการดูแลชาวนา 6. ด้านการศึกษา 7. ด้านการประหยัด 8. ด้านการเสียสละและการให้ทาน และ 9. ด้านการส่งเสริมให้เป็นคนดี ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี2537 ทั้งป่าบกป่าชายเลนตั้งแต่ยอดดอยจังหวัดน่านจนพื้นที่จังหวัดภาคใต้ รวมแล้วกว่า 20 ปีโดยมีประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศรวมพลังเดินตามรอยพระยุคลบาท กฟผ.ร่วมจิตอาสาสื่อมวลชนสืบสานเน้นย้ำด้านการดูแลรักษาป่าและน้ำ ด้านความพอเพียงและการเอาชนะความยากจน การเสียสละการให้ทาน และ ด้านการส่งเสริมให้เป็นคนดี เฉพาะอย่างยิ่งเน้นย้ำหล่อหลอมตั้งแต่เยาวชนกันไปเลยทีเดียว โครงการปลูกป่าเน้นพาเยาวชนไปสัมผัสการรักษาฟื้นฟูสืบสานทรัพยากรธรรมชาติอย่างใกล้ชิดด้วย ไปปลูกป่าชายเลนพื้นที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราและพื้นที่อำเภอขลุงจังหวัดจันทบุรีหนนี้นอกจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแล้วมีการเชิญสื่อมวลชนและภาคราชการอย่างเช่นสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงานกปร.) มีกิจกรรมเสริมที่สืบเนื่องมาจากโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติคือการเสวนาโครงข่ายกิจกรรมสืบสานพระราชปณิธานสู่การพัฒนาประเทศ โดยกิจกรรมหนึ่งที่เกิดผลพลอยได้มาจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริคือการสืบสานด้าน “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ กับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน” คุณศศิพร ปาณิกบุตร ผู้อำนวยการกองติดตามและประเมินผล สำนักงาน(สำนักงาน กปร. )ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่าวันนี้ก็รู้สึกดีใจที่ได้เห็นรูปแบบการทำงานอีกรูปแบบหนึ่งที่มีทั้งภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ข้าราชการและก็ชุมชนที่มาปรึกษาหารือพูดคุยกัน ในส่วนของสำนักงาน กปร.เองมีหน้าที่ในการสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ มีโครงการทั่วประเทศกว่า 4 พันโครงการ แต่ละโครงการก็เกิดขึ้นมาหลายรูปแบบ รูปแบบแรกก็มีพระราชดำริโดยตรงเลย อีกรูปแบบหนึ่งมีประชาชนถวายฎีกาโครงการ หลายฝ่ายก็คงจะเข้าใจว่าเดือดร้อน ไม่รู้จะไปหาใครช่วย เราขอพระราชทานความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ท่านก็ทรงช่วย หน่วยงานต่างๆถวายเป็นโครงการพระราชดำริ ซึ่งทุกวันนี้ก็คือพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต้องการช่วยเหลือและพัฒนาประชาชนคนไทยได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในเบื้องต้น คือพึ่งตนเองได้ จะทำยังไง ก็ให้เขาทำกินเองได้ อาชีพการเกษตรคืออาชีพหลัก ประมงหรืออะไรต่างๆ พระองค์ท่านก็ทรงหาแนวทางแก้ไขในพื้นที่นั้นๆ “ได้พระราชทานศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริไว้ทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ ก็เป็นต้นแบบของการพัฒนา จากพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย ในปัจจุบันสามารถเป็นพื้นที่สีเขียวทำการเกษตรได้ ทำอาชีพได้ มีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์สามารถเลี้ยงปลาเลี้ยงสัตว์ได้ และก็มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งน้ำและก็น้ำใต้ดินเกิดขึ้น ราษฎรมีอาชีพมีรายได้ ขณะเดียวกันพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่งานที่พัฒนา ปัจจุบันหลายๆโครงการเป็นที่ท่องเที่ยวให้กับประชาชนด้วย แหล่งเรียนรู้เข้าไปแล้วนอกจากได้ความรู้ ยังได้ความเพลิดเพลิน การไปดูป่า ดูธรรมชาติ ไปดูนก ไม่ว่าจะป่าภูเขาหรือป่าชายเลน ไปดูฝาย อากาศบริสุทธิ์แล้วเป็นพื้นที่ที่บริสุทธิ์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างมรดกไว้กับพวกเรา เราคนไทย เราก็สามารถเข้าไปเรียนรู้วิธีการที่ท่านทำแล้วสำเร็จ สามารถเอามาต่อยอด ขยายผล อย่างเช่นธนาคาร ปลา ปู อย่างเช่นที่อ่าวคุ้งกระเบน เป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางด้านวิชาการ รูปแบบหนึ่งชาวบ้านอาจจะมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดี แต่ถ้าเรารู้จักผสมผสานกับงานวิชาการอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถทำให้เขาเดินทางอยู่อย่างมั่นคง นี่คือสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวททรงหวังว่า สถานที่ต่างๆจะเป็นแหล่งความรู้ เพิ่มเติม เติมเต็มให้กับราษฎร”คุณศศิพร ปาณิกบุตรสรุป ด้านนายเชิดพรรณ บุญเกิด ประธานชมรมอาสาพัฒนาชุมชนภาคตะวันออก และรองนายก อบต.สองคลองในส่วนของชุมชนนั้นในส่วนพื้นที่บ้านปากคลอง จะมีสภาพพื้นที่ชุมชนคล้ายกันถือว่ามีต้นทุนที่ดีมีธรรมชาติ มีทะเลมีป่ามีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์พอสมควร แล้วในปัจจุบันนี้ คนจากพื้นที่ต่างๆเข้ามาเยี่ยมมาชมมาดู รวมทั้งบ้านปู บ้านปลา ปูแสม มีต้นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งมีโครงการรวมพลังสืบสานสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เรื่องการปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติยิ่งทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลน และร่วมกันปกป้องรักษาทำให้ผืนป่าแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นในการที่เราจะพัฒนาไปสู่ชุมชน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์นี้ ไม่ยากเท่าไหร่เพราะว่าส่วนร่วมของชุมชนคิดพัฒนาที่จะทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยว คนในชุมชนคิดเกิดขึ้นมาเองก่อน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ชุมชนคิดอยากจะทำกันขึ้นมา สามารถก้าวเดินต่อไปได้ เพราะว่าชุมชนนั้นมีต้นทุนทางธรรมชาติอยู่ ต้องอาศัยต้นทุนการสนับสนุนหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจภาคเอกชนด้วย