ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง "เทพชุมนุมฐานไพทีนั่งราบ ประติมากรรมท้องไม้พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9" ในการสร้างพระเมรุมาศ สถาปัตยกรรมชั่วคราวท้องสนามหลวง เพื่อการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สิ่งหนึ่งของเครื่องประกอบตกแต่งบริเวณมณฑลพระเมรุมาศคือรูปเทวดา ดังที่กล่าว “การสร้างพระเมรุมาศ จะสร้างรูปเทวดาประดับด้วยทั้งที่เป็นรูปปั้น และรูปเขียน ตามคติความเชื่อในเรื่องไตรภูมิ ประกอบยอดเขาพระสุเมรุที่สถิตของเทวราชและทวยเทพซึ่งเป็นดินแดนสวรรค์ การถวายพระเพลิงบนพระเมรุมาศจึงเปรียบเสมือนถวายพระเพลิงบนเขาพระสุเมรุ จึงนำรูปเทวดามาประดับ” (ประวัติราชประเพณีพระบรมศพ , อาวุธ เงินชูกลิ่น) การสร้างพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวง รัชกาลที่ 9) ประดับด้วยรูปปั้นเทวดานั่งและยืน ประดิษฐานตามฐานไพทีพระเมรุมาศ ที่สถาปนิกกำหนดไว้ รูปเทวดานั่งอัญเชิญฉัตร/บังแทรก/พุ่ม ประดิษฐานไว้บนฐานไพทีชั้นที่หนึ่ง สอง และสาม รวมทั้งสิ้น 56 องค์ รูปเทวดายืนอัญเชิญฉัตร ประดิษฐานไว้บนฐานไพทีชั้นที่สาม ติดกับบันไดทางขึ้นพระมณฑปพระเมรุมาศ รวมทั้งสิ้น 8 องค์ นอกจากรูปปั้นเทวดานั่งและยืนอัญเชิญฉัตรแล้ว ยังมีรูปปั้นจตุโลกบาล 4 พระองค์ ได้แก่ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และ ท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสวัณ หรือ ท้าวเวสสุวรรณ ทั้งสี่เป็นเทวดาผู้ป้องกันอันตราย ประดิษฐานไว้บนฐานไพทีชั้นที่หนึ่งของแต่ละทิศบริเวณมุมล้อมรอบองค์พระเมรุมาศ ดำเนินการปั้นรูปเทวดาและจตุโลกบาลโดยกลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ จากรูปประติมากรรมที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีประติมากรรมท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธาน ได้แก่ เทพยดาท้องไม้ เทพชุมนุมฐานไพทีนั่งราบ นำมาเป็นเครื่องประกอบตกแต่งบริเวณมณฑลพระเมรุมาศอีกด้วย อ.สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า “พระเมรุมาศในหลวง รัชกาลที่ 9 ถือเป็นครั้งแรกในการสร้างเทพยดาท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธาน เป็นเทพพนมนั่งส้น ออกแบบเป็นคุรฑและยักษ์ รวมถึงมีการสร้างเทพชุมนุมฐานไพทีนั่งราบ จำนวน 132 องค์ มีครุฑพนมนั่งราบ ยักษ์พนมนั่งราบ พานรพนมนั่งราบ เทวดาพนมนั่งราบ แต่ละชั้นแสดงถึงเทพเทวดามาชุมนุมอัญเชิญส่งเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเปรียบดั่งสมมติเทพคืนสู่สรวงสวรรค์ เป็นคติความเชื่อตามโบราณราชประเพณี ผสมผสานงานช่างไทยจัดทำอย่างเต็มที่ เพื่อให้พระเมรุมาศสง่างามและอลังการที่สุด โดยเทพยดาแต่ละองค์อาศัยรูปแบบจากวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ ถือเป็นองค์ความรู้ด้านศิลปกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังเรียนรู้” เทพชุมนุมฐานไพทีนั่งราบ ประติมากรรมท้องไม้พระเมรุมาศนี้มี 22 แบบ ได้แก่ ครุฑ พระประโคนธรรพ พระปัญจสิงขร ธตรฐ วิรูปักษ์ วิรุฬหก เทวดายอดชัย หนุมานทรงเครื่อง พาลี ชมพูวราช องคต สุครีพ สวัสดีมาร ทศกัณฑ์ จักรวรรดิ เวสสุวรรณ มังกรกัณฐ์ อินทรชิต ทศคีรีวัน ทศคีรีธร สัทธาสูร และ ทัพนาสูร ด้าน อ.สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและควบคุมการจัดสร้างราวบันไดนาค และประติมากรรมท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธานพระเมรุมาศ ทุกขั้นตอนการจัดสร้าง กล่าวเสริมในส่วนเทพยดาท้องไม้ ครุฑยุดนาค และเทพพนมนั่งส้น รวมจำนวน 70 องค์ โดยยึดหลักการออกแบบอย่างยิ่งใหญ่ให้สมพระเกียรติ เพื่อถวายแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9” ในการจัดสร้างประติมากรรมท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธาน กรมศิลปากรได้มอบหมายให้ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จังหวัดอ่างทอง ดำเนินการ โดยใช้สถานที่โรงเรียนศิลปะธนบุรีเป็นที่จัดสร้าง ซึ่งช่างศิลปะผู้อยู่เบื้องหลังงานประติมากรรมท้องไม้ทุกชิ้นและราวบันไดนาค คือครูและนักเรียนศูนย์ศิลปาชีพทั้งสองแห่ง ทำพิมพ์ หล่อไฟเบอร์ ขัดตกแต่ง ทำสี ประดับเลื่อมแล้วเสร็จ จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์เมื่อวันที่ 15 กันยายน นำไปประดับท้องไม้พระเมรุมาศ เวลานี้ ครั้งแรกในการสร้างเทพชุมนุมฐานไพทีนั่งราบ ประติมากรรมท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธาน