นางรวงทอง สุภิษะครูภูมิปัญญาไทยรุ่น 8 ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ (จบ) วันนี้ครูภูมิปัญญาไทยรุ่น8 ทั้ง 54 คนรวมด้วยครูภูมิปัญญาไทยอีก 7 รุ่นปราชญ์ชาวบ้านที่สกศ.ประกาศเชิดชูยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญานั้นเห็นจะต้องเน้นย้ำสังคมว่าล้วนแล้วแต่น้อมนำเอาหลักแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9มาเป็นประทีปส่องทางนำพาชีวิตตนเองครอบครัวและแนะนำคนอื่นๆก้าวไปสู่จุดหมายคือความสุขอย่างแท้จริงในการดำเนินชีวิต สุขเพราะความไม่โลภ สุขเพราะคำว่าพอคือพอเพียงพอมีพอกิน แล้วที่เต็มเปี่ยมอยู่ในสำนึกแห่งหัวใจของปราชญ์ชาวบ้านทั้งหลายทั้งที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูจากหน่วยงานต่างๆหรือไม่ได้รับการประกาศอีกมากมายในประเทศนี้ก็ตามส่วนใหญ่คือคุณธรรมจริยธรรมที่ถูกหล่อหลอมฝังลึกอยู่ในกมลมายาวนาน นับหนึ่งด้วยความขยันมั่นเพียร ความอดทน อดออม  ไม่ตั้งอยู่ในความโลภ  มีความรักความเมตตาเอื้ออาทรทั้งแก่ตนเองและคนอื่น มีความกตัญญูรู้จักแบ่งปัน  ไม่ห่วงแหนไว้เพียงคนเดียว  อันเป็นหลักคุณธรรมจริยธรรมที่พระราชทานไว้ในหลักการดำเนินชีวิตสู่ความสุขคือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าใครจะลองสืบค้นชีวิตของปราชญ์ชาวบ้านทั้งหลายแทบทุกคนก็เป็นเช่นเดียวกับพี่น้องไทยทั่วประเทศส่วนใหญ่ตกทุกข์ได้ยากลำบากตรากตรำเป็นหนี้เป็นสินมาแล้วทั้งสิ้น เพราะความโลภ เพราะเกิดมายากจนขาดแคลน อยากลืมตาอ้าปากเร็วไม่มีความเพียรพยายามอดทน ทำแล้วส่วนใหญ่ไม่ไปดังที่อยากจะได้ เกิดความล้มเหลวนำทุกข์มาให้ยิ่งขึ้นไม่เพียงตัวเองแต่ทุกข์กันทั้งครอบครัวเลยทีเดียว จนกระทั่งแนวพระราชดำริที่พระราชทานหลักการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเตือนสติจึงหันกลับมาดำเนินชีวิตตามรอยพระยุคลบาทที่สุดก็พบความสำเร็จคือมีพออยู่พอกินพบความสุขอย่างยั่งยืนบนอาชีพที่บรรพชนสร้างไว้ แต่ศึกษา ทดลอง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯก่อเกิดความรู้ความเชี่ยวชาญด้านอาชีพหลักของตนเองที่สืบสานมาจากบรรพชน ยึดวิถีภูมิปัญญานำมาปรับประยุกต์ใช้กับศาสตร์หรือความรู้สมัยใหม่สร้างจิตสำนึกที่ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมในการใช้ชีวิตในครอบครัวและร่วมกับคนอื่นจนได้รับการยอมรับจากชุมชน หน่วยงานในท้องถิ่นให้เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือปราชญ์ชาวบ้านเป็นที่พึ่งแก่คนอื่นๆถ่ายทอดภูมิปัญญาโดยไม่หวงแหน วันนี้มีครูภูมิปัญญาไทย 8 รุ่นราวๆ 400 กว่าคนทั่วประเทศที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ผ่านมานั้นในฐานะปราชญ์ชาวบ้านผู้มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านรวม  9  ด้านทั้งการเกษตรกรรม,  แพทย์แผนไทย,  ศิลปกรรม,  ศาสนาปรัชญาประเพณีไทย,  กองทุนและธุรกิจชุมชน,อุตสาหกรรมและหัตถกรรม,ภาษาและวรรณกรรม,การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและด้านโภชนาการ ได้ทำหน้าที่เป็นแบบอย่างที่ดีงาม เป็นพี่เลี้ยงคนในชุมชน  ในสังคมไทยในพื้นที่ภูมิภาคของแต่ละท่านด้วยความเสียสละแบ่งปันองค์ความรู้วิถีดำเนินชีวิตด้วยความรักความเมตตาที่มีต่อพี่น้องไทยด้วยกัน  สนองพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงงานหนักทรงเหน็ดเหนื่อยทรงตรากตรำพระวรกายปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่ราษฎรของพระองค์  ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆมากมายที่พระราชทานไว้ทั่วประเทศกว่า4,000  โครงการนับแต่เสด็จครองราชตราบเสด็จสวรรคตเป็นเวลายานาน  70  ปี ครูภูมิปัญญาไทยจึงนับได้ว่าเป็นกำลังสำคัญในการผ่อนพระราชหฤทัยห่วงใย ทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณ ถ่ายทอดองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริคือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือศาสตร์พระราชาขยายผลสู่ประชาชนคนไทยตามกำลังความสามารถเพื่อให้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตสู่การพัฒนาจนมั่นคงแน่นหนายืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งตัวเองแล้วก็ช่วยประคองเพื่อนๆในชุมชนและในภูมิภาคเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ครูภูมิปัญญาไทยรุ่น8  จึงเป็นกำลังเสริมเพิ่มเติมทั้ง 7 รุ่นได้อีกมากทีเดียว  รวมทั้งปราชญ์ชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการประกาศเชิดชูท่านก็เป็นกำลังสำคัญเช่นกันอยู่แล้ว นางรวงทอง สุภิษะ ครูภูมิปัญญาไทยรุ่น8 หนึ่งใน 54 คนประจำปี2560 อายุ42ปี เป็นคนบ้านประดู่ทอง เลขที่ 77 หมู่ที่ 5 ต. ลำดวน อ.ลำดวน จ. สุรินทร์ จบปริญญาตรี สาขาวิชารัฐประศาสนศาตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ณ วันนี้ เป็นกำนัน ตำบลลำดวน ครูรวงทอง สุภิษะ เกิดในครอบครัวเกษตรกรแล้วก็ทอผ้าไหมตั้งแต่คุณยายมาถึงคุณแม่ เรียนรู้วิธีการทอผ้าไหมจากคุณยายตั้งแต่ยังเล็กชนิดคลุกคลีคุ้นเคยตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบที่นำไปสู่การเกิดเส้นไหมคือการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม ตั้งแต่เรียนชั้น ป.2และมักแอบทอผ้าเวลาที่คุณยายลุกจากการทอผ้า จนกระทั่งเรียนจบชั้น ป.6 ไม่ได้เรียนต่อ จึงเริ่มกระบวนการเรียนรู้มัดลายด้วยตนเองจนรู้ถึงขั้นตอนการทอผ้าไหมตั้งแต่การมัดลาย แกะลาย และ การทอผ้า จำได้ว่าเริ่มทอผ้าไหมผืนแรก คือ ผ้าพันคอ ครูรวงทองบอกว่าเมื่อมีโครงการขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนและพาไปศึกษาดูงาน เรื่องการทอผ้าไหมด้วยกี่กระตุก ตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ เนื่องจากอยากปรับปรุงการทอผ้าเปลี่ยนทอจากแบบธรรมดาเป็นการทอแบบกี่กระตุก จึงเขียนโครงการเสนอ อบต.และ ศูนย์การศึกษานอกระบบฯ อำเภอลำดวน สนับสนุนเส้นไหมในการฝึกอบรมได้สำเร็จ ขณะเดียวกันก็ได้ฝึกฝนหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องการมัดลาย คัดลายพื้นต่างๆ  เช่น ลายราชวัตร ลายลูกแก้ว ลายก้นหอย ลายดอกพิกุล ลายพริกไทย และได้พัฒนาลายทอผ้าไหมลายใหม่ เป็นของตนเอง ชื่อ ลายรวงทอง โดยการนำเอาลายราชวัตรมามัดหมี่ ทำให้เกิดลายใหม่ขึ้น เป็นที่ชื่นชอบของสังคม จำหน่ายผ้าไหมได้เพิ่มมากขึ้น “สืบสานอาชีพทอผ้ามานานกว่า 30 ปี สนใจและซึมซับมาจากยายนั่นแหละ มีโอกาสจึงรวมกลุ่มทอผ้าไหม มีการส่งเสริมและถ่ายทอดกระบวนการทอผ้าไหมและองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกจนทำให้บ้านประดู่ทองกลายเป็นหมู่บ้านทอผ้าไหม ที่มีชื่อเสียงในอำเภอลำดวน และเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องกระบวนการทอผ้าไหมไว้สำหรับผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ในสถานที่จริง ทำให้สมาชิกในกลุ่มมีรายได้เพิ่มจากการทอผ้าไหมด้วย” ครูรวงทอง สุภิษะบอก จัดตั้งศูนย์ทอผ้าไหมขึ้นบริเวณ ศาลาประชาคม ม.5 บ้านประดู่ทอง เป้าหมายหลักคือสืบสานมรดกทางภูมิปัญญารักษาเผยแพร่ลายผ้าโบราณที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นอวดคนทั่วไป แล้วตั้งใจสร้างเป็นอาชีพเสริมได้ การยึดดำรงวิถีชีวิตอย่างนี้ได้เน้นย้ำกลุ่มตลอดว่าไม่ได้มุ่งที่จะร่ำรวย แต่ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่ขาดแคลนอดอยาก ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ซึมซับมาจากที่ในหลวงรัชกาลที่9 ทรงสอน แล้วยังได้พัฒนาการผลิตให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์เด่น ได้แก่ ผ้าไหมลายราชวัตร ผ้าไหมลายลูกแก้ว ผ้ามัดหมี่พุ่ง ผ้าไหมลายพริกไทย เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการแต่งกายด้วยผ้าไหมท้องถิ่น ส่งเสริมคนในชุมชนใส่ชุดผ้าไหมไทยในชีวิตประจำวันและเทศกาลสำคัญ จากการที่ได้ปรับปรุงและพัฒนาเรื่อยมา สามารถจำหน่วยสินค้าผ่านทาง Social  ทาง facebookและ Line จำหน่วยยัง ประเทศฝรั่งเศส ประเทศสหรัฐอเมริการ ประเทศออสเตเรีย และ ประเทศฟินแลนด์ นำรายำด้เข้าชุมชนมิใช่น้อยในแต่ละปี ครูรวงทองบอกอีกว่าจากที่มุ่งมั่นศึกษาเรื่องการทอผ้าไหมจนเป็นที่ยอมรับว่ามีความเชี่ยวชาญ แล้วยังเป็นผู้นำออกตลาดให้ชุมชนด้วย จนเป็นที่ยอมรับและกล่าวได้ว่าเป็นที่พึ่งของชาวชุมชนไปด้วยก็ไม่ได้หวงความรู้ความสามารถไว้เฉพาะในครอบครัว เสียสละเวลาไปเป็นวิทยากรสอนการทอผ้าไหมทั้งในสถานศึกษาต่างๆ หน่วยงานภาครัฐและเองชน รวมถึงศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอลำดวน โครงการเส้นสายลายไหม และให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่ ด้วยมุ่งมั่นการประพฤติปฏิบัติตนตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ถือเป็นแบบอย่างแห่งความขยันหมั่นเพียร มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ เป็นผู้สนใจใฝ่รู้เรื่องที่สร้างสรรค์ เสียสละในการถ่ายทอดความรู้ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เป็นผู้มีความสามารถในการใช้ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าไหมอย่างชัดเจน มีทักษะในการใช้ภูมิปัญญาทอผ้าไหม จึงมีผลงานที่เกิดจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และพัฒนางานอย่างต่อเนื่องและยังคงพัฒนาต่อไปเพื่อลูกหลานและเพื่อรักษาเอกลักษณ์แห่งภูมิปัญญาไทยท้องถิ่นอีสานสืบไป