อีกหนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่สวนสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและเพื่อสิ่งแวดล้อม ย้อนไปเมื่อปี 2544 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า สมควรที่จะรวม 3 สวนสาธารณะ ซึ่งประกอบด้วย สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนจตุจักร และสวนวชิรเบญจทัศ ให้เป็นสวนเดียวกัน ทั้งนี้ หากรวม 3 สวนเข้าด้วยกัน จะกลายเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่มีพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 727 ไร่ ปี 2546 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้รวมพื้นที่สวนสาธารณะทั้ง 3 แห่ง เพื่อน้อมเกล้าฯถวายให้แก่พระองค์ท่าน ต่อมาปี 2547 ได้พระราชทานพื้นที่สวนสาธารณะทั้ง 3 แห่ง คืนให้อยู่ในความดูแลของรัฐบาล โดยพระราชทานชื่อว่า “อุทยานสวนจตุจักร” กทม.ได้เดินหน้าโครงการ ซึ่งล่าสุด นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม.ได้ลงพื้นที่อุทยานสวนจตุจักร เพื่อเตรียมก่อสร้างลานทางเดินเชื่อมสวนสาธารณะ 3 แห่ง โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ได้ออกแบบทางเชื่อมสวนสาธารณะทั้ง 3 แห่ง เริ่มต้นสัญญา 30 ก.ย.60 สิ้นสุดสัญญา 26 มิ.ย.61 ระยะเวลาก่อสร้าง 9 เดือน ประกอบด้วย การก่อสร้างทางเชื่อมสวนบริเวณสวนวชิรเบญจทัศกับสวนจตุจักร ซึ่งเป็นทางเข้าหลักของโครงการ โดยก่อสร้างลานทางเดินเชื่อม 2 สวน ด้วยวิธียกระดับผิวจราจร ถนนกำแพงเพชร 3 ให้เสมอทางเท้าทั้ง 2 ฝั่ง และสร้างลาน Plaza บริเวณด้านหน้าอาคารหอเกียรติภูมิรถไฟ ปรับปรุงสานข้ามคูน้ำเข้าสวนวชิรเบญจทัศ และก่อสร้างป้ายชื่ออุทยานสวนจตุจักร ก่อสร้างทางเชื่อมสวนบริเวณสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์กับสวนจตุจักร โดยสร้างลานเชื่อม 2 สวน ด้วยวิธียกระดับผิวจราจร ให้เสมอทางเท้าทั้ง 2 ฝั่ง เช่นเดียวกับทางเชื่อมสวนบริเวณสวนวชิรเบญจทัศกับสวนจตุจักร และสร้างลาน Plaza บริเวณประตูสวนจตุจักร และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ปรับปรุงสะพานทางเชื่อมสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์กับสวนวชิรเบญจทัศ โดยปรับปรุงสะพานเดิมให้สวยงาม พร้อมทั้งออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณเชิงสะพานทั้ง 2 ฝั่งให้เรียบร้อยและสวยงาม เมื่อก่อสร้างลานทางเดินเชื่อมสวนสาธารณะ 3 แห่งแล้วเสร็จ จะเป็นการรวมสวนสาธารณะทั้ง 3 แห่ง ให้เป็นอุทยานสวนจตุจักรในรูปแบบสวนสาธารณะระดับมหานคร ได้ใช้พื้นที่ทำกิจกรรมร่วมอย่างสอดคล้องต่อเนื่อง เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย แหล่งเรียนรู้ธรรมชาติสำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป