นักวิจัย มทร.ธัญบุรี สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ คว้า 10 รางวัล เวทีประกวดผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติและนำเสนอผลงานInternational Warsaw Invention Show (IWIS 2017) ครั้งที่ 11 ที่กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ โดยเฉพาะผลงานวิจัยเซรั่มบำรุงผิวหน้าจากสารสกัดเงาะพันธุ์สีชมพูขนาดนาโนที่ใช้เทคโนโลยีนีโอโซม ซึ่งพัฒนาจากกะทิ ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ และรางวัลพิเศษ TISIAS Toronto International Society of Innovation and Advanced Skill จากประเทศแคนาดา รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมประกวดผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติและนำเสนอผลงาน International Warsaw Invention Show (IWIS 2017) ครั้งที่ 11 ที่จัดขึ้น ที่กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานเครือข่าย ซึ่งผลปรากฏว่าอาจารย์จาก มทร.ธัญบุรี ได้รับรางวัลทั้งหมด 10 รางวัล จาก 5 ผลงานที่ส่งเข้าประกวด ดังนี้ ระบบควบคุมสำหรับโรงเพาะเห็ดถั่งเช่าแบบอัตโนมัติ ผลงานของ ผศ.ดร.จักรี ศรีนนท์ฉัตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รางวัลเหรียญทอง และรางวัลพิเศษ Romanian Association for Non-conventional Technologies Bucharest จากประเทศโรมาเนีย ผลงานเซรั่มบำรุงผิวหน้าจากสารสกัดเงาะพันธุ์สีชมพูขนาดนาโนที่ใช้เทคโนโลยีนีโอโซมซึ่งพัฒนาจากกะทิ โดย ผศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย ได้รางวัลเหรียญทองเกียรติยศ และรางวัลพิเศษ TISIAS Toronto International Society of Innovation and Advanced Skill จากประเทศแคนาดา ผลงานการพัฒนารถแทรกเตอร์อัตโนมัติไร้คนขับนำทางด้วยระบบ GPS สำหรับเกษตรกรรมสมัยใหม่ ผลงานของ ผศ.ดร.เกรียงไกร แซมสีม่วง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รางวัลเหรียญเงิน และรางวัลพิเศษ CIA Award Invention and Innovation, China จากประเทศจีน พร้อมด้วยถ้วยรางวัล Special Award on Stage จาก Union of Inventors of Bulgaria ประเทศบังแกเรีย  ผลงานซอสหอยขม ของอาจารย์ณัฐชรัฐ  แพกุล คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ได้รางวัลเหรียญเงิน และรางวัลพิเศษ TISIAS Toronto International Society of Innovation and Advanced Skill จากประเทศแคนาดา  และอีกหนึ่งผลงาน คือ วัสดุนาโนหลากสมบัติจากแร่ธรรมชาติราคาถูกของ ผศ.ดร.สรพงษ์ ภวสุปรีย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รางวัลเหรียญเงิน อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม หลากหลายผลงานวิจัยได้รับการจดสิทธิบัตร ร่วมมือกับภาคเอกชน ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ การเข้าร่วมครั้งนี้ มทร.ธัญบุรี ประสบความสำเร็จ และนักวิจัยมีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น อย่างเช่น ผศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ ที่เคยร่วมประกวดในครั้งที่ผ่านมา ปีนี้ก็ได้รับถึง 2 รางวัล ขณะเดียวกันงานวิจัยยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ช่วยแก้ปัญหาและนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงสอดรับกับเทรนด์ของโลก "ผมรู้สึกภาคภูมิใจ ถือว่าได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปสร้างชื่อเสียง และโชว์ศักยภาพความสำเร็จในเวทีโลก ประสบการณ์ในครั้งนี้จะช่วยบ่มเพาะอาจารย์และนักวิจัย รวมถึงจะเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ต่อไป ส่วนนโยบายการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมของ มทร.ธัญบุรี ต่อจากนี้จะส่งเสริมในกลุ่มของเทคโนโลยีชีวภาพและอาหาร อินเทอร์เน็ตออฟติงส์ การออกแบบ เกษตรสมาร์ทฟาร์ม และวัสดุศาสตร์ให้มากยิ่งขึ้น" อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าว ---------------------