ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง "พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด สถาปัตย์ในศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 9" ช่วงเวลานี้พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด สถาปัตยกรรมชั่วคราวสร้างขึ้นบริเวณท้องสนามหลวง ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีความตระการตาสีทอง พระเมรุมาศจะดูดั่งสีทองเต็มองค์ก็ต่อเมื่อภายหลังมีพระราชพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศในวันที่ 18 ตุลาคมนี้แล้วเสร็จ จากนั้นทยอยถอดนั่งร้านออกทั้งหมด รอการพระราชพิธีที่จะมีขึ้นวันที่ 25 – 29 ตุลาคม โดยในช่วงของวันที่ 26 เป็นการออกพระเมรุ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ กล่าวการสร้างพระเมรุมาศใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในสังคมไทยได้รับความคิดและรูปแบบจากคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเป็นเจ้าของพราหมณ์ หรือเป็นพระนารายณ์ที่อวตารลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อดับทุกข์เข็ญ และอิงคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิตามคัมภีร์พุทธศาสนาที่กล่าวถึงภพภูมิจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสามรายล้อมด้วยสรรพสิ่งนานา อันเป็นวิมานของท้าวจตุโลกบาลและเขาสัตตบริภัณฑ์ ที่แทรกอยู่ในการปกครองแบบเทวนิยมมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตคืนสู่แดนสรวงสวรรค์ โดยมีสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งตั้งอยู่บนยอด “เขาพระสุเมรุ” อันถือเป็นหลักโลกศูนย์กลางแห่งจักรวาล เป็นดินแดนทิพยสวรรค์ชั้นปฐม จึงมีการสร้าง “พระเมรุมาศ” ขึ้น จะจำลองให้ละม้ายคล้ายกับดินแดนเขาพระสุเมรุ อาคารสร้างให้มีลักษณะปราสาทพระราชวังให้งดงาม ถวายพระเพลิงด้วยไม้หอม และเครื่องหอมต่างๆ เป็นการส่งดวงพระวิญญาณกลับคืนเมืองฟ้าหรือโลกของเทพดา การสร้างพระเมรุมาศ จะมี “ขนาดและรูปแบบ” งดงามวิจิตรแตกต่างกันตามยุคสมัยของแต่ละรัชกาล เป็นงานสร้างสรรค์ตามแรงบันดาลใจของช่าง โดยยึดคติโบราณที่สืบทอดกันมาเป็นแบบแผน จำลองภูมิทัศน์ของเขาพระสุเมรุในจินตนาการออกมาให้เหมือนจริง การสร้างสรรค์ศิลปกรรมสร้างอย่างวิจิตรสวยงามอลังการเฉกเช่นพระวิมานของเทพ สิ่งก่อสร้างบริวารที่เป็นส่วนประกอบในเขตปริมณฑลพระเมรุมาศ จำลองให้ละม้ายคล้ายกับดินแดนเขาพระสุเมรุ เช่น มีรูปสัตว์ป่าหิมพานต์นานาพันธุ์ ล้วนสื่อความหมายถึงเขาพระสุเมรุและไตรภูมิทั้งสิ้น สำหรับพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) เป็นสถาปัตยกรรมทรงบุษบกเก้ายอดบนชั้นฐานชาลาย่อมุมไม้สิบสอง ผู้ออกแบบโดย นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เป็นงานสถาปัตยกรรมรูปแบบกรุงรัตนโกสินทร์ผสมผสานกับศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 9 การวางผังอาคารพระเมรุมาศ เชื่อมโยงสัมพันธ์กับศาสนสถานที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ โดยแกนแนวทิศเหนือและทิศใต้เป็นแนวแกนเดียวกับรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แนวแกนทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นแนวแกนเดียวกับพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ส่วนผังแบบพระเมรุมาศ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 60 เมตร ยาว 60 เมตร ความสูง 55.18 เมตร องค์พระเมรุมาศ กรุประดับด้วยไม้อัด ปิดผ้าทองย่นสาบสีตกแต่งลวดลาย และเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ โดยเหนือเครื่องยอดบุษบกเชิงกลอนเจ็ดชั้น บนยอดสุดปักพระนพปฎลมหาเศวตรฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น) โถงกลางภายในเป็นที่ประดิษฐานพระจิตกาธานสำหรับประดิษฐานพระบรมโกศ ติดตั้งฉากบังเพลิงประกอบพระวิสูตร (ผ้าม่าน) ปิดเพื่อมิให้เห็นการถวายพระเพลิง องค์พระเมรุมาศ ทิศตะวันตกหันหน้าเข้าพระที่นั่งทรงธรรม ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดตั้งลิฟท์ที่ชั้นฐานชาลาแต่ละชั้น ด้านทิศเหนือมีสะพานเกรินสำหรับใช้เป็นที่เคลื่อนพระโกศทองใหญ่จากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนบุษบกประธานพระเมรุมาศ ผังพระเมรุมาศประกอบด้วยชั้นต่างๆ จากพื้นลานเขตมณฑลพระเมรุมาศ เป็นสระอโนดาตจำลอง มีสัตว์มงคลประจำ 4 ทิศ ช้าง ม้า วัว สิงห์ ในสระตกแต่งโขดหินเทียมหรือเขามอ มีรูปปั้นสัตว์หิมพานต์นานาชนิด อยู่ตามสุมพุ่มไม้ดัดต้นเล็กๆ นำมาประดับเพื่อให้เข้ากับเรื่องราวความเป็นป่าหิมพานต์ ถัดจากลานขึ้นมาที่ฐานชาลาชั้นที่ 1 ทางขึ้นบันไดนาคเศียรเดียว เป็นรั้วราชวัติ ฉัตร แสดงอาณาเขตพระเมรุมาศ มีท้าวจตุโลกบาล 4 องค์ ประทับยืนที่มุมฐานชาลา 4 ทิศ หันหน้าเข้าสู่บุษบกประธาน ได้แก่ ท้าวธตรฐ ด้านทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหก ด้านทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์ ด้านทิศตะวันตก ท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวรรณ ด้านทิศเหนือ และมีเทวดาคุกเข่าถือบังแทรกรอบทิศพระเมรุมาศ ฐานชาลาชั้นที่ 2 ทางขึ้นบันไดนาคสามเศียร มีรูปปั้น ราชสีห์ คชสีห์ ประดับอยู่ด้านข้าง จากฐานชาลาขึ้นบันไดไปมีเทวดานั่งคุกเข่าถือบังแทรก เป็นฐานปัทม์ที่ตั้งของบุษบกหอเปลื้อง เครื่องยอดบุษบกเชิงกลอนห้าชั้น 4 องค์ ตั้งอยู่ที่มุมฐานทั้งสี่ที่ใช้สำหรับจัดพักพระโกศทองใหญ่ พระโกศจันทน์ พระหีบจันทน์ และที่เก็บเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เช่น ฟืน ดอกไม้จันทน์ ฯ มีรูปปั้นครุฑหัวเสา (ครุฑยุดนาค) ประดับบริเวณมุมหอเปลื้องทั้งสี่ ฐานชาลาชั้นที่ 3 ทางขึ้นบันไดเป็นนาคห้าเศียร มีรูปปั้นครุฑยืนประดับอยู่ด้านข้าง มีพระพิเนก พระพินาย ยืนประดับอยู่ด้านทิศตะวันตก ฐานท้องไม้มีเทพชุมนุมประดับรอบฐานไพที 132 องค์ ถัดขึ้นไปเป็นบัวเขิงบาตร ฐานชั้นนี้มีเทวดานั่งคุกเข่าถือพุ่ม รูปปั้นครุฑหัวเสา (ครุฑยุดนาค) ประดับบริเวณบุษบกซ่างทั้งสี่องค์ ซึ่งซ่างเครื่องยอดบุษบกเชิงกลอนห้าชั้น เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรม 4 สำรับนั่งอยู่ประจำบุษบกซ่าง โดยจะผลัดกันสวดพระอภิธรรมเวียนกันไป จนกว่าการถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้วเสร็จ ฐานชาลาชั้นที่ 4 ทางขึ้นบันไดนาคเจ็ดเศียร ท้องไม้ประดับเทพยดา ได้แก่ เทพพนมนั่งส้น ครุฑยุดนาค ถัดจากบันไดขึ้นไปเป็นองค์บุษบกประธาน เหนือขึ้นไปเป็นเครื่องยอดบุษบกเชิงกลอน มีรูปปั้นพระโพธิสัตว์ประดับ พระเมรุมาศ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” นอกจากสร้างขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาลแล้ว ยังเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ที่มีคุณแก่บ้านเมืองใหญ่หลวง การถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นการถวายอย่างสมพระเกียรติยศสูงสุด พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด สถาปัตยกรรมรูปแบบกรุงรัตนโกสินทร์ผสมผสานกับศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 9