นายสมชัย ใจกว้าง สหกรณ์จังหวัดเชียงราย เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การซื้อขายผลผลิตข้าวนาแปลงใหญ่ มาตรฐาน GAP ระหว่างสหกรณ์กับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย ร่วมกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงรายจัดขึ้น โดยมีพันจ่าตรีเทวัญ ธนมาลารัตน์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงราย นายสมชัย ใจกว้าง สหกรณ์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การซื้อขายผลผลิตข้าว มาตรฐาน GAP ในครั้งนี้ เป็นการลงนามระหว่าง ผู้ซื้อคือ สหกรณ์การเกษตรเชียงแสน จำกัด กับกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ จำนวน 2 แปลง ได้แก่ 1. กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวคุณภาพบ้านป่าบงงาม หมู่ 6 ต.บ้านด้าย อ.แม่สาย พื้นที่ 93 ไร่ ประมาณการผลผลิต 64 ตัน และ2. กลุ่มรักถิ่นเกิดเกษตรทฤษฎีใหม่ หมู่ 4 ต.บ้านด้าย อ.แม่สาย พื้นที่ 56 ไร่ ประมาณการผลิต 34.5 ตัน การรับซื้อข้าว สหกรณ์การเกษตรเกษตรเชียงแสน จำกัด จะต้องรับซื้อข้าวคุณภาพมาตรฐาน GAP นาแปลงใหญ่ จากกลุ่มเกษตรกร ในราคาสูงกว่าราคาตลาด ประมาณ 300-500 บาทต่อตัน ในส่วนของสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับสิทธิพิเศษในการขอรับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จากธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี ในการดำเนินโครงการนี้ กรมการข้าว ได้มีการรับสมัครผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวน 4 ราย ได้ผ่านการตรวจสอบและเห็นชอบจากกรมการข้าวในรอบแรก และได้ทำ MOU ไปก่อนแล้ว จำนวน 2 ราย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 สหกรณ์จังหวัดเชียงราย กล่าวอีกว่า นอกจากหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าคุณภาพตามมาตรฐาน GAP รวมทั้งการลดต้นทุน และการเพิ่มผลผลิต ในรูปแบบของการรวมกลุ่ม ในลักษณะแปลงใหญ่ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา และมีเป้าหมายกระดับไปสู่การผลิตข้าวอินทรีย์ นอกจากนี้แล้ว กรมส่งเสริมสหกรณ์ ยังเป็นหน่วยงานที่ดูแลในด้านการดำเนินกิจกรรมของสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร โดยการเผยแพร่ความรู้และอุดมการณ์เน้นความร่วมมือให้แก่เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังจัดทำโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวรองรับผลผลิตข้าวอินทรีย์ของโครงการให้แก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรผู้ผลิตข้าวคุณภาพที่ได้มาตรฐาน GAP และอินทรีย์สามารถขายข้าวได้ในราคาที่เหมะสมกับคุณภาพ มีกำลังใจที่จะผลิตข้าวอย่างต่อเนื่อง สามารถยกระดับให้เป็นข้าวอินทรีย์ และขยายผลการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพต่อไป