วันนี้ (19 ต.ค.60) นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการซื้อขายข้าวอินทรีย์ (MOU) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร จังหวัดยโสธร ระหว่างสถาบันเกษตรกร สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ และผู้ประกอบการค้าข้าว โดยมีนายพนัส พันธุ์วรรณ สหกรณ์จังหวัดยโสธร พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมสีเงิน องค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวว่า จังหวัดยโสธร ร่วมกับสถาบันเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์และผู้ประกอบการค้าข้าวในจังหวัดยโสธร ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการซื้อขายข้าวอินทรีย์ (MOU) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร จังหวัดยโสธร เพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ ไม่ทำให้สมาชิกกลุ่มเกิดความลังเล หรือ แยกตัวออกจากกลุ่มเดิม เพื่อเป็นการลดภาระในการตรวจรับรองของกรมการข้าว โดยใช้กลไกการรับรองมาตรฐานที่กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์เดิมในพื้นที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว ผลผลิตของผู้เข้าร่วมโครงการที่อยู่ในกลุ่มเกษตรอินทรีย์เดิมในพื้นที่ มีกลไกตลาดกลุ่มเดิมรองรับผลผลิต และการร่วมบูรณาการของหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร เป็นจังหวัดต้นแบบเกษตรอินทรีย์ที่เข้มแข็งของประเทศ จังหวัดยโสธร มีกลุ่มเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ปี 2560 จำนวน 225 กลุ่ม เกษตรกร 6,415 ราย พื้นที่ 66,005.25 ไร่ แยกเป็น กลุ่มที่ 1 (กลุ่มเตรียมความพร้อม) จำนวน 214 กลุ่ม เกษตรกร 5,992 ราย พื้นที่ 61,551.25 ไร่ กลุ่มที่ 2 (พร้อมตรวจรับรองระบบกลุ่ม) จำนวน 11 กลุ่ม เกษ๖รกร 423 ราย พื้นที่ 4,454 ไร่ มีผู้ประกอบการค้าข้าวในจังหวัดยโสธร สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 5 ราย จำนวน 4 ราย ดังนี้ 1.โรงสีข้าว พี เค.เค ไรซ์มิลล์ 2001 จำกัด อำเภอเลิงนกทา จำรับซื้อข้าวหอมมะลิ 2.โรงสีกิจเจริญ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จะรับซื้อหอมมะลิ และข้าวสีต่างๆ เช่น ข้าวไรซ์เบอรรี่ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมนิล ฯลฯ 3.โรงสีกลุ่มเกษตรกรนานาโส่ อำเภอกุดชุม รับซื้อข้าวหอมมะลิ 4.โรงสีวิสาหกิจเกษตรกรรมธรรมชาติหนองยอ อำเภอกุดชุม จะรับซื้อข้าวหอมมะลิ ส่วนราคาที่รับซื้อข้าวอินทรีย์จะสูงกว่าท้องตลาด ดังนี้ 1.ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวสี ระยะปรับเปลี่ยน รับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด 500 บาท/ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 4 หากได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด 2,000 บาท/ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 2.ข้าวหอมปทุม ระยะปรับเปลี่ยน รับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด 400/ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 4 หากได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด 1,500 บาท/ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 3.ข้าวเจ้า ระยะปรับเปลี่ยน รับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด 300 บาท/ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 4 หากไดรับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด 1,200 บาท/ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ด้าน นายพนัส พันธุ์วรรณ สหกรณ์จังหวัดยโสธร กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะพัฒนาสถาบันเกษตรกร ทั้งในส่วนของกลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดยโสธร ให้เป็น “เมืองเกษตรอินทรีย์” หรือ Land of Organic สร้างความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ผลิต สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องเกษตรกร พัฒนาด้านเศรษฐกิจ สร้างช่องทางการตลาด สร้างเครือข่ายระหว่างผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้าข้าว ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องดำเนินกิจกรรมบนพื้นฐานของความพอเพียง และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป