นางสาวอัญชนา แก้วชื่น ผู้อำนวยการศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง กรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง และเจ้าหน้าที่กรมประมง ร่วมปล่อยพันธุ์ปลาสร้อย จำนวนกว่า 1 แสนตัว ลงในอ่างเก็บน้ำห้วยทราย เพื่อเทิดพระเกียรติ และรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระองค์ทรงทุ่มเทพลิกพื้นดินทรายแห่งแล้งและขาดแคลนน้ำเพาะปลูก พัฒนาให้กลายเป็นดินดีและมอบให้ราษฎรหุบกะพงทำการเกษตรอย่างยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน ณ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำห้วยทราย ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี นางสาวอัญชนา แก้วชื่น ผู้อำนวยการศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง กล่าวว่า พื้นที่แห่งนี้ในอดีตเป็นเพียงพื้นที่ไร้ศักยภาพทางการเกษตร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เป็นดินทรายยากแก่การปลูกพืชผัก แต่เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2507 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของราษฎรในท้องที่ใกล้เคียง และทรงทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักในอำเภอชะอำกลุ่มหนึ่ง จำนวน 83 ครอบครัว ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ในการประกอบอาชีพ พระองค์จึงทรงรับเกษตรกรเหล่านี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมทั้งพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กู้ยืม ไปลงทุน เป็นจำนวนเงิน 3 แสนบาท ภายหลังไม่ปรากฏผู้ใดนำเงินจำนวนที่กู้ยืมไปทูลเกล้าถวายคืนแก่พระองค์ท่านเลย และความได้ทราบฝ่าละอองพระบาทว่าเกษตรกรเหล่านี้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ได้อาศัยเช่าของกรมประชาสงเคราะห์ โดยเฉลี่ยครอบครัวละไม่เกิน 2 ไร่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ องคมนตรี ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปจัดหาพื้นที่ในเขตจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกร ขณะเดียวกันรัฐบาลอิสราเอลซึ่งมีประสบการณ์ด้านปลูกพืชบนพื้นทราย ได้ทราบพระราชประสงค์ จึงขออาสาร่วมกับรัฐบาลไทยในฐานะผู้เชี่ยวชาญ จัดทำโครงการ “ไทย-อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท (หุบกะพง)” กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2509 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2514 โดยเลือกที่ดินบริเวณหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นที่ตั้งของศูนย์สาธิตและทดลองการเกษตรของโครงการอิสราเอล ด้วยเหตุผลที่ว่าเดิมที่ดินบริเวณนี้เป็นป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ มีราษฎรเข้าไปจับจองอยู่บ้าง แต่การทำมาหากินไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เนื่องจากสภาพที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินเลวขาดแคลนน้ำ การทำไร่จึงเป็นลักษณะไร่เลื่อนลอย ต้องย้ายที่อยู่เสมอทุกระยะ 3 – 4 ปี การจับจองไม่สัมฤทธิ์ผล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริให้กันพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ออกจากป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ ภายหลังพระองค์ทรงจับจองพื้นที่ดังกล่าวเยี่ยงสามัญชน โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายป่าไม้และกฎหมายที่ดินทุกประการ เมื่อมีการพัฒนาที่ดินจนดีขึ้นแล้ว จึงได้จัดสรรให้เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในตอนต้น และเกษตรกรที่ขยันหมั่นเพียรแต่ขาดแคลนที่ดินทำกินเข้ามาอยู่อาศัยและทำประโยชน์ โดยจัดให้อยู่เป็นหมู่บ้านเกษตรกร โดยมีทางราชการเข้าช่วยเหลือให้คำแนะนำการบริหารงานของหมู่บ้านตัวอย่าง และมีการให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับหลักและวิธีการสหกรณ์ จนเห็นว่าสมาชิกของหมู่บ้านเกษตรกรมีความเข้าใจดีพอแล้ว จึงเข้าชื่อกันเพื่อขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตร ชื่อว่า “สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด” เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2514 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าพระราชทานทะเบียนให้ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด และได้พระราชทานโฉนดที่ดินบริเวณหุบกะพง จำนวน 3 ฉบับ รวมเนื้อที่ 12,079 ไร่ 1 งาน 82 ตารางวา ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ “ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ทําให้เกษตรกรมีที่ดินทํากิน มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีอาชีพที่มั่นคง ตลอดจนมีแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงการตามพระราชประสงค์ ช่วยต่อยอดผลผลิตของเกษตรกรที่มีอยู่ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ทําให้มีเงินหมุนเวียนในสหกรณ์หมู่บ้าน ตลอดจนมีการสร้างความสามัคคี และทําให้คนในชุมชนยอมรับฟังข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะของกันละกันตลอดมา” ผู้อำนวยการศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง กล่าว