“พระเมรุมาศ” สถาปัตยกรรมชั่วคราว สร้างขึ้นบริเวณท้องสนามหลวง เพื่อใช้ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ คติการสร้างพระเมรุมาศเพื่อใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพในวัฒนธรรมสังคมไทย ได้รับความคิดและรูปแบบอันเนื่องมาจากความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเป็นเจ้าของพราหมณ์ หรือเป็นพระนารายณ์ที่อวตารลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อดับทุกข์เข็ญ และอิงคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิตามคัมภีร์พุทธศาสนาที่กล่าวถึงภพภูมิจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสามรายล้อมด้วยสรรพสิ่งนานา อันเป็นวิมานของท้าวจตุโลกบาลและเขาสัตตบริภัณฑ์ ที่แทรกอยู่ในการปกครองแบบเทวนิยมมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น เมื่อกาลสวรรคตขององค์พระมหากษัตริย์อันเป็นวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพบนมนุษยโลก ก่อนเสด็จคืนสู่เทวพิภพในสรวงสวรรค์จึงนำคติความเชื่อดังกล่าวมาใช้ในการประกอบพิธีถวายพระเพลิง เพื่อหวังจะให้ดวงพระวิญญาณได้สถิตในภพแห่งความดีงาม โดยมีสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งตั้งอยู่บนยอด “เขาพระสุเมรุ” อันถือเป็นหลักโลกศูนย์กลางแห่งจักรวาล เป็นดินแดนทิพยสวรรค์ชั้นปฐม จึงมีการสร้าง “พระเมรุมาศ” เป็นสัญลักษณ์แทนดินแดนที่ปรารถนานั้นให้ยิ่งใหญ่ งดงาม ถวายพระเพลิงด้วยไม้หอม และเครื่องหอมต่างๆ เป็นการส่งดวงพระวิญญาณกลับคืนเมืองฟ้าหรือโลกของเทพดา การสร้างพระเมรุมาศสำหรับถวายพระเพลิง จะจำลองให้ละม้ายคล้ายกับดินแดนเขาพระสุเมรุ อาคารสร้างให้มีลักษณะปราสาทพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานคติการสร้างว่า “พระเมรุ” ได้ชื่อมาแต่การปลูกสร้างปราสาทอันสูงใหญ่ท่ามกลางปราสาทน้อยที่สร้างขึ้นตามมุมทิศ มีโขลนทวาร (โคปุระ) ชักระเบียงเชื่อมถึงกัน ปักราชวัติเป็นชั้นๆ ลักษณะประดุจเขาพระเมรุตั้งอยู่ท่ามกลางมีเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อม จึงเรียกเลียนชื่อว่า พระเมรุ ภายหลังเมื่อทำย่อลง แม้ไม่มีอะไรล้อม เหลือแต่ยอดแหลมๆ ก็ยังคงเรียกเมรุ การสร้างพระเมรุมาศ จะมี “ขนาดและรูปแบบ” งดงามวิจิตรแตกต่างกันตามยุคสมัยของแต่ละรัชกาล เป็นงานสร้างสรรค์ตามแรงบันดาลใจของช่างโดยยึดคติโบราณที่สืบทอดกันมาเป็นแบบแผน จำลองภูมิทัศน์ของเขาพระสุเมรุในจินตนาการออกมาให้เหมือนจริง การสร้างสรรค์ศิลปกรรมสร้างอย่างวิจิตรสวยงามอลังการเฉกเช่นพระวิมานของเทพ สิ่งก่อสร้างบริวารที่เป็นส่วนประกอบในเขตปริมณฑลพระเมรุมาศ จำลองให้ละม้ายคล้ายกับดินแดนเขาพระสุเมรุ เช่น มีรูปสัตว์ป่าหิมพานต์นานาพันธุ์ ล้วนสื่อความหมายถึงเขาพระสุเมรุและไตรภูมิทั้งสิ้น ลักษณะพระเมรุมาศที่ปรากฏมาแล้วมี 2 รูปแบบ คือ พระเมรุมาศทรงปราสาท และ พระเมรุมาศทรงบุษบก โดยที่พระเมรุมาศทรงปราสาทเป็นแบบสำหรับพระมหากษัตริย์มาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา และใช้ต่อมาถึงรัชกาลที่ 4 ในสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนพระเมรุมาศทรงบุษบก เป็นแบบที่ใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์ โดยเริ่มใช้ในรัชกาลที่ 5 สมัยรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการกำหนดจัดการพระบรมศพของพระองค์ไว้ก่อนเสด็จสวรรคตหลายประการ เป็นต้นว่า ให้สร้างพระเมรุมาศมีขนาดเล็กเพียงพอแก่ถวายพระเพลิงได้ มิให้สูงถึง 2 เส้นดังแต่กาลก่อน พระเมรุมาศสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด สถาปัตยกรรมรูปแบบกรุงรัตนโกสินทร์ผสมผสานกับศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 9 ภูมิทัศน์บริเวณด้านหน้าทางเข้ามณฑลพิธีด้านทิศเหนือ จัดพื้นที่สื่อถึงพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องโครงการพระราชดำริ สร้างแปลงนา คันนาเลข ๙ นำพันธุ์ข้าวมาประดับในแปลงนา นำกังหันชัยพัฒนามาติดตั้งในบ่อน้ำแก้มลิง ฝายน้ำล้น หญ้าแฝก ต้นมะม่วงมหาชนก ต้นยางนา พืชผักสวนครัว เลือกพรรณไม้ตกแต่งภูมิสถาปัตยกรรมที่สะท้อนถึงสรวงสวรรค์ตามคติโบราณและพรรณไม้สีเหลือง ขาว สื่อถึงวันพระราชสมภพ มาประดับมณฑลพิธี พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สร้างขึ้นตามความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาลแล้ว ยังเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ที่มีคุณแก่บ้านเมืองใหญ่หลวง การถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นการถวายอย่างสมพระเกียรติยศสูงสุด พระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบกเก้ายอด ผู้ออกแบบพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด ได้แก่ นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร วางผังอาคารพระเมรุมาศเชื่อมโยงสัมพันธ์กับศาสนสถานที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ โดยแกนแนวทิศเหนือและทิศใต้เป็นแนวแกนเดียวกับรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แนวแกนทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นแนวแกนเดียวกับพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ผังของพระเมรุมาศเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 60 เมตร ยาว 60 เมตร ความสูง 55.18 เมตร และมีสิ่งปลูกสร้างอาคารประกอบพระเมรุมาศ อาทิ พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน ทับเกษตร และอื่นๆ ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงเกือบเต็มพื้นที่ 47 ไร่ 63 ตารางวา สถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบกเก้ายอดบนชั้นฐานชาลาย่อมุมไม้สิบสอง โครงสร้างภายในเป็นเหล็กแบบยึดด้วยน็อต ฐานรากโครงสร้างแบบใช้พื้นดินรับน้ำหนักโดยไม่มีเสาเข็ม องค์พระเมรุมาศกรุประดับด้วยไม้อัด ปิดผ้าทองย่นสาบสี ตกแต่งลวดลายและเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ มีเทวดานั่งคุกเข่าเชิญฉัตรและบังแทรก/พุ่ม ประดิษฐานไว้บนฐานไพทีชั้นที่หนึ่ง และสอง มีสระอโนดาตสี่ทิศ โดยมีน้ำไหลจากหน้าสัตว์มงคลประจำทิศสู่สระอโนดาต คือ ช้าง ม้า โค(วัว) สิงห์ ในสระประดับด้วยรูปปั้นสัตว์หิมพานต์ บุษบกประธานผังพื้นอาคารเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ชั้นฐานเป็นฐานสิงห์ เหนือฐานสิงห์เชิงบาตร ชั้นที่หนึ่งเป็นชั้นครุฑยุดนาค เชิงบาตรชั้นที่สองเป็นชั้นเทพพนม เครื่องยอดบุษบกเชิงกลอนเจ็ดชั้น บนยอดสุดปักพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น) โถงกลางภายในเป็นที่ประดิษฐานพระจิตกาธานสำหรับประดิษฐานพระบรมโกศ ติดตั้งฉากบังเพลิงทั้งสี่ทิศ เขียนรูปพระนารายณ์อวตารปางต่างๆ เทวดาชุมนุม และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบพระวิสูตร (ผ้าม่าน) มีบันไดทางขึ้นจากฐานชาลาทั้งสี่ทิศ ทิศตะวันตกหันหน้าเข้าพระที่นั่งทรงธรรม ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดตั้งลิฟท์ที่ชั้นฐานชาลาแต่ละชั้น ทางด้านทิศเหนือของพระเมรุมาศ มีสะพานเกรินสำหรับใช้เป็นที่เคลื่อนพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนบุษบกประธานพระเมรุมาศ ฐานชาลาชั้นที่ 1 เป็นฐานสิงห์เป็นรั้วราชวัติ ฉัตร แสดงอาณาเขตพระเมรุมาศ มีท้าวจตุโลกบาลประทับยืนที่มุมฐานชาลาหันหน้าเข้าสู่บุษบกประธาน มีเทวดาคุกเข่าถือบังแทรก ฐานชาลาชั้นที่ 2 เป็นฐานปัทม์เป็นที่ตั้งของบุษบกหอเปลื้อง เครื่องยอดบุษบกเชิงกลอนห้าชั้น จำนวน 4 องค์ ตั้งอยู่ที่มุมฐานทั้งสี่ที่ใช้สำหรับพักพระโกศทองใหญ่ พระโกศจันทน์ พระหีบจันทน์ และที่เก็บเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เช่น ฟืน ดอกไม้จันทน์ เป็นต้น ฐานชาลาชั้นที่ 3 เป็นฐานสิงห์ เหนือฐานสิงห์เป็นฐานเชิงบาตร ท้องไม้มีเทพชุมนุมโดยรอบจำนวน 132 องค์ ถัดขึ้นไปเป็นบัวเชิงบาตร ฐานชั้นนี้เป็นที่ตั้งของบุษบกซ่างเครื่องยอดบุษบกเชิง กลอนห้าชั้นจำนวน 4 องค์ ตั้งอยู่ที่มุมฐานทั้งสี่ เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรม 4 สำรับนั่งอยู่ประจำบุษบกซ่าง โดยจะผลัดกันสวดพระอภิธรรมเวียนกันไป จนกว่าการถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้วเสร็จ พระเมรุมาศที่จัดสร้างในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ นอกจากเป็นงานศิลปกรรมของชาติที่ได้รวบรวมงานช่างศิลปะทุกประเภทที่แสดงภูมิปัญญาช่างชั้นสูงไว้พร้อมสรรพแล้ว ยังเป็นการเฉลิมพระบารมีที่ยิ่งใหญ่ไพศาลพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ดำรงสิริราชสมบัติยาวนานที่สุด และสถิตอยู่ในหัวใจของปวงชนชาวไทยนิจนิรันดร์ ****** สีในสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ การตกแต่งพระเมรุมาศให้งามวิจิตรมีอยู่ 2 ประการ คือ ตกแต่งอย่างพระเมรุทอง และตกแต่งอย่างพระเมรุสีการตกแต่งอย่างพระเมรุทอง ได้แก่ ปิดทองล้วนทั้งทองจริงและทองเทียม หรือปิดทองล่องชาดให้พื้นสีแดงมีลายทอง หรือปิดกระดาษทองย่นมีสาบสีแดงปิดอย่างพระเมรุทอง มักใช้กับพระมหากษัตริย์ พระเมรุสี หรือ เมรุลงยาราชาวดี จะใช้สีจากวัสดุหลายประเภท ได้แก่ ประดับกระจกสี สอดสีด้วยกระดาษสี กระดาษตะกั่วสี เพิ่มสีสันให้พระเมรุองค์นั้นๆ มีความงดงาม ซึ่งการเลือกสีขึ้นอยู่กับช่างที่จะศึกษาความสัมพันธ์กับพระบรมศพหรือพระศพที่จะถวายพระเพลิง เช่นเป็นสีประจำวันประสูติ เป็นต้น การให้สีของพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยช่างสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ได้ศึกษาตามโบราณราชประเพณี ให้สอดคล้องกับแนวคิดของการก่อสร้างให้พระเมรุมาศที่มีสีทองเป็นสีหลัก ตามความหมายของคำว่า “มาศ” ที่แปลว่า ทอง โดยแบ่งเป็นสีพื้นตัวอาคาร และสีลวดลายผ้าทองย่น สีของอาคารพระเมรุมาศ จะใช้สีทองเป็นหลัก มีสีเทาเป็นสีคู่เคียงตามสีในสถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างในรัชกาลที่ 9 แต่ภาพรวมของอาคารทั้งหมดยังคงความเป็นสีทอง และมีสีที่ช่วยเสริมขับสีทองของพระเมรุมาศโดดเด่นขึ้นด้วยลวดลายประดับผ้าทองย่นของชั้นฐานชาลาทั้ง 3 ชั้น และลายหน้าเสาพระเมรุมาศ สำหรับสีหลักที่ใช้ในการออกแบบลายศิลปกรรมผ้าทองย่นจะเน้นสีทองเป็นหลัก และใส่แววประกอบของลวดลายเป็นสีแดง สีน้ำเงิน สีเงิน สีชมพู และสีเขียวในส่วนสีของพระเมรุมาศ แบ่งเป็นส่วนเครื่องยอด ประกอบด้วยบุษบกประธาน บุษบกหอเปลื้อง และบุษบกซ่าง ใช้งานพ่นสีแทนการใช้ผ้าทองย่นฉาบแววทั้งหมด ซึ่งต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะหากใช้การประดับผ้าทองย่นจะเกิดความเสียหายจากแดดและฝนที่ตกลงมา สำหรับกระเบื้องหลังคาเป็นสีเทามีขลิบสีทอง จากนั้นเป็นส่วนชั้นเชิงกลอน จะใช้ลวดลายผ้าทองย่นแววสีเงินเข้ามาประดับรวมถึงบุษบกหอเปลื้อง และบุษบกซ่าง แต่ต่างกันตรงที่บริเวณภายในซุ้มบันแถลงของบุษบกประธานจะประดับกระจกสีขาวรูปสามเหลี่ยม ตามรูปแบบการจัดวางซุ้มสถาปัตยกรรมรวยระกาขนาดเล็ก ส่งถึงตัวเรือนยอดเพื่อให้ตัวบุษบกประธานโดดเด่นสง่างาม จากนั้นเป็นลายประกอบหน้าเสาพระเมรุมาศ ประดับลวดลายผ้าทองย่นบนพื้นสีครีมงาช้าง ดังนั้นพระเมรุมาศจึงใช้สีเทาเป็นตัวพื้น และใช้สีทองประกอบออกมา แต่ภาพรวมแล้วใช้สีทองเป็นสีหลักของตัวอาคาร ขณะที่ลวดลายที่ใช้ทั้งหมดนำสีแววต่างๆ มารวมกันเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาของวัสดุและสีต่างๆ เมื่อโดนแสงในเวลางานพระราชพิธีกลางวันและกลางคืน สำหรับสีที่ใช้กับพระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน ทับเกษตร และอาคารประกอบอื่นๆ จะเป็นสีโทนเดียวกันคือสีเทา ทอง ***** อาคารประกอบพระเมรุมาศ พระเมรุมาศทรงบุษบกเป็นประธาน ภายในตั้งพระจิตกาธานสำหรับประดิษฐานพระโกศพระบรมศพ นอกจากนี้ยังมีอาคารประกอบอื่นๆ ที่สำคัญมีดังนี้ ซ่าง ส้าง สร้าง หรือ สำซ่าง สิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่มุมฐานทั้งสี่ฐานชาลาชั้นที่ 3 เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรม 4 สำรับนั่งอยู่ประจำบุษบกซ่าง โดยจะผลัดกันสวดพระอภิธรรมเวียนกันไป นับตั้งแต่พระโกศพระบรมศพประดิษฐานบนพระจิตกาธาน จนกว่าการถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้วเสร็จ หอเปลื้อง ตั้งอยู่ที่มุมฐานทั้งสี่ฐานชาลาชั้นที่ 2 ใช้สำหรับจัดพักพระโกศทองใหญ่ พระโกศจันทน์ หีบพระบรมศพ และใช้เป็นที่เก็บสัมภาระต่างๆ ในพระราชพิธี เช่น ฟืน ดอกไม้จันทน์ เป็นต้น ****** เครื่องประกอบตกแต่งมณฑลพระเมรุมาศ ฉัตร เครื่องสูงอยู่เหนือยอดพระเมรุมาศ ฉัตร เครื่องสูงประกอบพระอิสริยยศประดิษฐานอยู่เหนือยอดพระเมรุมาศ พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น) เป็นฉัตรชั้นสูงสุดสำหรับพระมหากษัตริย์ ราชวัติ แนวรั้วแสดงเขตปริมณฑลของพระเมรุมาศทั้ง 4 ด้าน ตกแต่งด้วยฉัตร และธง บางทีเรียกรวมกันว่า ราชวัติฉัตรธง ราชวัติ เขตปริมณฑลพระเมรุมาศ ฉากบังเพลิง เครื่องกั้นมิให้เห็นการถวายพระเพลิงพระบรมศพบนพระเมรุมาศ และใช้บังลม มีลักษณะฉากพับได้ติดไว้กับเสาพระเมรุมาศทั้ง 4 ด้าน ภาพที่เขียนบนฉากบังเพลิงล้วนด้วยรูปเทพยดา สำหรับฉากบังเพลิงครั้งนี้เขียนรูปพระนารายณ์อวตารในปางต่างๆ เทวดาชุมนุม และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉากบังเพลิง เทวดา การสร้างพระเมรุมาศ จะสร้างรูปเทวดาประดับ ทั้งที่เป็นรูปปั้น และรูปเขียน ตามคติความเชื่อในเรื่องไตรภูมิ ประกอบยอดเขาพระสุเมรุที่สถิตของเทวราชและทวยเทพซึ่งเป็นดินแดนสวรรค์ การถวายพระเพลิงบนพระเมรุมาศจึงเปรียบเสมือนถวายพระเพลิงบนเขาพระสุเมรุ จึงนำรูปเทวดามาประดับ เทวดา สัตว์หิมพานต์ การสร้างสัตว์หิมพานต์ประกอบงานพระบรมศพ เป็นราชประเพณีสืบต่อกันมาช้านาน ด้วยความเชื่อเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทวราช เมื่อเสด็จสวรรคตจึงจัดสร้างพระเมรุ โดยมุ่งหมายให้เขาพระสุเมรุมีเขาสัตตบริภัณฑ์รายล้อม ซึ่งดาษดื่นด้วยสิงสาราสัตว์นานาชนิด สัตว์หิมพานต์ ***** อาคารรอบพระเมรุมาศ พระเมรุมาศ จัดสร้างขึ้นเพื่อในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ยังมีสิ่งปลูกสร้างอาคารประกอบตั้งอยู่พื้นที่รอบๆ เพื่อในการพระราชพิธี มีดังนี้ พระที่นั่งทรงธรรม ตั้งอยู่กึ่งกลางด้านทิศตะวันตกของพระเมรุมาศ เป็นสถานที่สำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับทรงธรรม และทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในการออกพระเมรุพระบรมศพ ภายในอาคารพระที่นั่ง มีที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน สมาชิกรัฐสภา ตลอดจนคณะทูตานุทูต เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระที่นั่งทรงธรรม พระที่นั่งทรงธรรรมนี้มีขนาดใหญ่ เป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูง ผังแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงกึ่งกลางสำหรับที่ประทับ ปีกอาคารทั้ง 2 ด้าน เป็นที่สำหรับผู้เข้าร่วมพิธีประมาณ 2,400 ที่นั่ง ศาลาลูกขุน ศาลาลูกขุน อาคารโถงทรงโรง สร้างตรงปลายปีกพระที่นั่งทรงธรรมทั้งด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ รั้วราชวัติ , ทิม ,ทับเกษตร ทับเกษตร อาคารที่ปลูกเป็นแนวเขตปริมณฑล มักสร้างเป็นอาคารโถงทรงไทย ใช้เป็นที่สำหรับข้าราชการที่มาในพระราชพิธีพักและฟังสวดพระอภิธรรม ตั้งอยู่ที่มุมทั้ง 4 มุม เพื่อแสดงแนวเขตมณฑลพิธี ทิม สร้างติดรั้วราชวัติทั้ง 4 ทิศ ใช้สำหรับที่พัก เจ้าพนักงาน พระสงฆ์ แพทย์หลวง และใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคม และทำเป็นห้องสุขา รั้วราชวัติ เป็นแนวรั้วเขตปริมณฑลพิธีทั้ง 4 ด้าน  พลับพลายก พลับพลายก ตั้งอยู่นอกมณฑลพิธีด้านทิศเหนือ ใช้สำหรับทรงรอรับส่งพระโกศพระบรมศพ จากราชรถเชิญเข้าสู่มณฑลพิธี ที่มา:สัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 65 ฉบับที่ 6 :ธ สถิต ณ ทิพยสถาน พระเมรุมาศเนื่องในพระราชพิธีพระบรมศพ หน้า 5-11