เวลา 14.00 น.วันที่ 25 ต.ค.ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รรท.รอง ผบ.ตร.และโฆษก ตร. เดินทางไปตรวจความพร้อมในการอำนวยความสะดวก และมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนที่โดยสารมากับรถไฟเพื่อเข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพรบมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลเดช บรมนาถบพิตร พล.ต.ต.วรพงษ์ ทองไพบูลย์ ผู้บังคับการกองตำรวจรถไฟ (ผบก.รฟ.) เปิดเผยว่า กองตำรวจรถไฟร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในการอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชน เมื่อประชาชนที่เดินทางมาถึงประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วยจะมีหน่วยแพทย์คอยให้บริการ ส่วนพี่น้องจะเดินทางไปยังสนามหลวงก็มีรถชัตเตอร์บัสคอยรับส่งทุกๆ 5 นาที ส่วนมาตรการในการรักษาความปลอดภัย แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรกก่อนวันงานพระราชพิธี 5 วัน ระยะที่สองระหว่างวันที่ 23-30 ต.ค.ระยะที่สามหลังเสร็จงานพระราชพิธี 7 วัน โดยแต่ละขบวนตั้งแต่ต้นทางจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลประชาชน ตรวจสิ่งของต้องห้าม เมื่อขึ้นบนรถไฟแล้วยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำขบวนโบกี้ละ 2 นาย เพื่อดูแลชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ส่วนที่สถานีรถไฟกรุงเทพจะมีตำรวจอีก 26 นายประจำคอยผลัดเปลี่ยนกันตลอด 24 ชม. นอกจากนั้นยังมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำอยู่สถานียมราช ชุมทางบางซื่อ และจุดอื่นๆ อีก รวมกำลังพล 507 นาย ในสถานีกรุงเทพยังมีกล้องวงจรปิดอีก 178 จุด ตลอดระยะเวลา 10 วันที่ผ่านมา มีประชาชนเดินทางมาแล้วกว่า 1.3 แสนคน ยังไม่มีเหตุการกระทำความผิดแต่อย่างใด ด้าน พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี รรท.ผบช.ทท. ซึ่งเป็นตำรวจอีกหน่วยที่ทำงานควบคู่กันไปกับตำรวจรถไฟ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยวประจำอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ เปิดเผยการเตรียมความพร้อมในการรองรับประชาชน และนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเวลานี้ว่า กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยวมีด้วยกันทั้งหมด 1,600 นาย ที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ทั้งสนามบิน สนามหลวง และจุดอื่น ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อให้ความรู้ พร้อมทั้งแผ่นผับ แผ่นป้าย ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยวยังไปปฏิบัติตามจุดถวายถวายดอกไม้จันทร์ที่พระเมรุมาศจำลองทั่วประเทศ ถ้าสถานที่ใดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะก็จะมีล่ามเสริมเข้าไปด้วย รับรองว่าทำงานอย่างเต็มศักยภาพตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้านนายทรงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการรถไฟ เปิดเผยว่า ปกติแต่ละวันจะมี 244 ขบวนต่อวัน ทางการรถไฟได้เพิ่มโบกี้เข้าไปอีกเพื่อเพิ่มที่นั่งซึ่งเป็นรถไฟชั้น 3 พร้อมกันนั้นยังเพิ่มรถไฟสายสั้นที่มาจาก จ.ฉะเชิงเทรา นครปฐม อยุทธยา เพิ่มอีกวันละ 18 ขบวน โดยภาพรวมมีประชนที่เดินทางมาโดยรถไฟประมาณวันละ 80,000-90,000 คนต่อวัน แต่อย่างไรก็ตามศักยภาพสถานีรถไฟกรุงเทพสามารถรองรับประชาชนได้ถึง 110,000 คนต่อวัน