“ภูมิสถาปัตยกรรม” เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งว่าด้วยศิลปะในการออกแบบ การวางแผน วางผัง การจัดการพื้นที่ ทั้งพื้นที่ตามธรรมชาติและพื้นที่ในเมือง ทั้งภายนอกและภายในอาคาร เพื่อสนองประโยชน์ใช้สอย โดยสถาปนิกผู้ออกแบบจะต้องผสานความรู้ทางวัฒนธรรมและทางวิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนร่วม โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากร ตลอดทั้งดูแลรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีที่สุด หากเปรียบงานสถาปัตยกรรมทั้งหมดเป็นภาพวาด “ภูมิสถาปัตยกรรม” เปรียบได้กับกรอบรูปที่เสริมให้ภาพวาดนั้นดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช บรมนาถบพิตร แม้จะเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นชั่วคราว แต่ความเชื่อเกี่ยวกับภพภูมิจักรวาลยังคงมีอยู่ตามขนบที่ถือปฏิบัติกันมาแต่ครั้งอดีต เพียงแนวความคิดในการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น แตกต่างไปจากประเพณีในการสร้างพระเมรุที่เคยมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมมาการสร้างพระเมรุมาศจะสร้างในพื้นที่ด้านทิศใต้ของสนามหลวง ไม่ล้ำเข้าไปในพื้นที่ด้านทิศเหนือที่ถือเป็นส่วนของวังหน้า แต่เมื่อรูปทรงและขนาดของสนามหลวงเปลี่ยนไป แนวแกนในการวางตำแหน่งพระเมรุมาศจึงเปลี่ยนไปเพื่อให้มีความสัมพันธ์กับบริบทของกรุงรัตนโกสินทร์และมีความสง่างาม ภูมิสถาปนิกได้วางผังกำหนดให้แกนเหนือ – ใต้ ให้ตำแหน่งยอดพระปราสาท มณฑปประธานของพระเมรุมาศ อยู่ตรงกับตำแหน่งพระศรีรัตนเจดีย์ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนแกนตะวันออก-ตะวันตก ตัดกับยอดหลังคาเขตพุทธาวาสประดิษฐานพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ ทำให้พระเมรุมาศองค์นี้เกิดความสง่างามสัมพันธ์กับปูชนียสถานที่สำคัญของพื้นที่ กลุ่มอาคารพระเมรุมาศ ออกแบบพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดความกว้าง 60 เมตร จึงถูกจัดวางอยู่ทางทิศใต้ ค่อนไปทางทิศตะวันออกของสนามหลวง ถัดจากขั้นบันไดขั้นสุดท้ายมีลานกว้าง 20 เมตร ทั้งสี่ทิศสำหรับประกอบพระราชพิธี ทางทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งทรงธรรม และมีศาลาลูกขุน ทับเกษตรและอาคารประกอบอยู่โดยรอบ การออกแบบดังกล่าว ใช้คติความเชื่อเรื่องภูมิจักรวาลตามโบราณราชประเพณี และสร้างความเป็นเอกภาพของงานศิลปะประกอบทั้งงานสถาปัตยกรรม ประติมากรรม วิจิตรศิลป์ และภูมิสถาปัตยกรรม ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเดียวกัน การออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรมงานพระเมรุมาศครั้งนี้ เน้นไปที่เรื่องของ “น้ำ” โดยได้แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนพระเมรุมาศต้องการจะออกแบบให้เป็นภาพของสวรรค์ จึงใช้น้ำต่างสระอโนดาตและมหานทีสีทันดร ส่วนพื้นที่ด้านนอกรั้วราชวัติมีการใช้น้ำเป็นองค์ประกอบที่สื่อถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ฝายน้ำล้น กังหันชัยพัฒนา การออกแบบโดยใช้องค์ประกอบของน้ำเป็นประเด็นนำเสนอสำคัญ ถือเป็นความท้าทายด้วยเป็นเรื่องใหม่ในสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ เพราะน้ำที่ล้อมรอบอาคารนอกจากที่จะสื่อถึงสระอโนดาต มหานทีสีทันดรแล้ว ยังต้องทำให้องค์ประกอบของน้ำหมายถึงโครงการในพระราชดำริเกี่ยวกับ ป่า ดิน น้ำและการเกษตรด้วย อาทิ โครงการฝายน้ำล้น โครงการกังหันชัยพัฒนา โครงการหญ้าแฝก รวมทั้งโครงการแก้มลิง นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบที่สื่อถึงพระองค์ อาทิ คันนารูปเลขเก้าไทย (๙) ดินผสมสีทองอยู่ บริเวณนาข้าวต้นมะม่วงมหาชนก ต้นยางนา ต้นราชพฤกษ์ อีกทั้งลวดลายกระต่ายในองค์ประกอบภูมิทัศน์ต่างๆ เพื่อสื่อถึงปีนักษัตรพระราชสมภพที่จะต้องจัดวางให้กลมกลืนกัน เทคนิครายละเอียดที่เสริมให้พระเมรุมาศมีความพิเศษยิ่งขึ้น คือการเลือกใช้แผ่นซีเมนต์สีเทามีผิวสัมผัสสะท้อนระยิบระยับเป็นวัสดุปูพื้นลานรอบพระเมรุมาศ แล้วใช้ไฟส่องสว่างที่ให้แสงนวลสลัวไปยังประติมากรรมรอบมณฑลพระเมรุมาศ ทั้งเขาสัตบริภัณฑ์ รูปปั้นสัตว์หิมพานต์นานาพันธุ์ สระอโนดาต เขามอ ไม้ประดับ และยอดปราสาท ทั้งมีการใช้เครื่องพ่นละอองน้ำช่วยลดความร้อนช่วงกลางวัน และเสริมบรรยากาศยามค่ำคืน ให้ดูราวกับพระเมรุมาศลอยอยู่เหนือมวลเมฆ ส่วนองค์ประกอบสี มี 3 สีหลัก คือ สีขาว สีทอง และสีเทา ไม่เน้นลวดลาย เพื่อให้คุณค่ากับพระเมรุมาศซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมหลัก